โรคหัวใจติดเชื้อ รู้ทัน ป้องกัน รักษาได้

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

โรคหัวใจติดเชื้อ รู้ทัน ป้องกัน รักษาได้

โรคหัวใจ เป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตในคนทั่วโลก และเกิดขึ้นจากหลากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติที่เกิดจากส่วนประกอบของใดๆ ของหัวใจ ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่จะได้ยินและคุ้นเคยกับชื่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ แตก ตัน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะ แต่หลายคนกลับไม่รู้จักและไม่เคยได้ยิน “โรคหัวใจติดเชื้อ” ที่เป็นอีกโรคหนึ่งที่ต้องระวังกันให้ดี ฉะนั้นมาทำความรู้จักกับเรื่องราวของโรคหัวใจติดเชื้อ เพื่อเป็นแนวทางป้องกันและรักษาได้อย่างทันเวลา


รู้จัก...โรคหัวใจติดเชื้อ

โรคหัวใจติดเชื้อ เกิดได้กับทุกส่วนของหัวใจ แต่มักเกิดกับลิ้นหัวใจ โดยเฉพาะลิ้นหัวใจที่มีโรคอื่นๆ อยู่ หรือการบาดเจ็บ เช่น จากโรคไข้รูมาติก โรคลิ้นหัวใจแต่กำเนิด การผ่าตัดหัวใจ การผ่าตัดลิ้นหัวใจ การใส่ลิ้นหัวใจเทียม โดยลิ้นหัวใจที่พบเกิดโรคได้บ่อย คือ ลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายกับห้องล่างซ้าย รองลงไปคือ ลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างซ้าย กับท่อเลือดแดง และในการอักเสบอาจเกิดขึ้นเพียงจุดใดจุดหนึ่ง หรือลิ้นใดลิ้นหนึ่งของหัวใจ หรือเกิดหลายๆ จุด หรือหลายลิ้นหัวใจพร้อมกันก็ได้ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค

ผู้ที่จะเป็นโรคหัวใจติดเชื้อได้นั้น ต้องเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ การมีลิ้นหัวใจผิดปกติอยู่ก่อน เช่น ลิ้นหัวใจรั่วหรือลิ้นหัวใจตีบ และมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งเลือดจะหมุนวนผ่านลิ้นที่มีความผิดปกติ หากมีการหมุนวนมากๆ จะเป็นการทำลายเยื่อบุลิ้น มีบาดแผล พื้นผิวจะไม่เรียบมีการขรุขระเกิดขึ้น พอมีเชื้อในกระแสเลือดแม้แต่ปริมาณเล็กน้อย ก็จะสามารถเข้าไปเกาะบริเวณที่ไม่เรียบตรงนั้น แล้วเกิดการติดเชื้อตามมาได้


กลไกการเกิดโรคหัวใจติดเชื้อ

ส่วนใหญ่เกิดจากการที่ผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจ แล้วส่งผลให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุหัวใจ โดยเฉพาะบริเวณลิ้นหัวใจ ซึ่งการอักเสบต่างๆ จะทำให้การไหลเวียนของเลือดในห้องต่างๆ ของหัวใจผิดปกติ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเลือดเล็กๆ ที่มักจะไปจับติดอยู่ที่ลิ้นของหัวใจ และผนังกั้นห้องหัวใจ ก้อนเลือดเล็กๆ เหล่านี้จะจับตัวรวมกัน และอาจหลุดลอยเข้าไปในกระแสเลือด ก่อให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดต่างๆ ทั่วร่างกาย ส่งผลให้อวัยวะสำคัญที่มีการอุดตันของหลอดเลือดทำงานผิดปกติจากการขาดเลือด และอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้ เช่น หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดปอด

หากมีการติดเชื้อจากกระเสเลือดไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดๆ ก็ตาม เช่น จากฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือร่างกายมีการติดเชื้อต่างๆ เชื้อนี้ ก็จะไปจับที่ก้อนเลือดเล็กๆ เหล่านี้ที่เกาะอยู่ตามลิ้นหัวใจหรือตามผนังหัวใจ ซึ่งเมื่อหลุดลอยเข้ากระแสเลือด นอกจากจะก่อให้เกิดหลอดเลือดอุดตันแล้ว ยังก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อ และเกิดฝีหนองขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะ สมอง ปอด และตับ จึงส่งผลทำให้อวัยวะขาดเลือด และการติดเชื้ออย่างรุนแรง จัดเป็นโรคที่รุนแรงและเป็นสาเหตุของความพิการ หรือการเสียชีวิตได้สูง โดยเรียกภาวะนี้ว่า โรคหัวใจอักเสบติดเชื้อ ซึ่งบางครั้งการติดเชื้อก็เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุพนังด้านในของหัวใจเอง มาจากเชื้อโรคหลายชนิด เช่น เชื้อรา ไวรัส หรือแบคทีเรีย เป็นต้น


กลุ่มเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคหัวใจติดเชื้อ

  • ผู้ที่มีลิ้นหัวใจรั่วหรือลิ้นหัวใจตีบมาก่อน
  • ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ
  • ผู้ที่มีหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งจะมีลักษณะตัวเขียว และภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ
  • ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ
  • ผู้ที่ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด
  • ผู้ที่ใส่เครื่องมือทางการแพทย์ที่หัวใจ เช่น การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ การใส่สายเพื่อใช้ในการล้างไต
  • ผู้ที่มีฟันผุ เหงือกอักเสบบ่อยครั้ง

อาการของโรคหัวใจติดเชื้อ

อาการสำคัญ คือ มีไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและตามข้อ หน้าซีด ซูบผอม อาจมีอาการเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล หรือ มีจุดแดงขึ้นตามตัว ผู้ป่วยมักมีอาการซีด ซึ่งจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ หากรุนแรงอาจมีภาวะหัวใจวาย อัมพาตครึ่งซีก หรือภาวะไตวายร่วมด้วย


การตรวจวินิจฉัย

แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและสอบถามประวัติของคนไข้และครอบครัว โดยการวินิจฉัยโรคหัวใจขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ นอกจากการสอบถามประวัติโดยละเอียด การตรวจร่างกายการตรวจเลือด และเอกซเรย์ทรวงอกแล้ว การทดสอบพิเศษทางหัวใจต่างๆ จะช่วยในการวินิจฉัย เช่น การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG หรือ EKG) เป็นต้น


การรักษาโรคหัวใจติดเชื้อ

การรักษาเบื้องต้นจะให้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อที่ตรงกับเชื้อว่าเป็นแบบไหน เชื้อนั้นมีการดื้อยาหรือไม่ โดยใช้เวลาการรักษาประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่หากว่าการให้ยาปฏิชีวนะแล้วอาการไม่ดีขึ้น จะทำการอัลตราซาวด์เพื่อดูว่าก้อนเลือดที่ติดเชื้อนั้นขยายใหญ่ขึ้นหรือไม่ ซึ่งอาจจำเป็นต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดนำก้อนเลือดที่ติดเชื้อนี้ออก


การดูแลตัวเองหลังการรักษาโรคหัวใจติดเชื้อ

  • รับประทานยาที่แพทย์แนะนำให้ถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ขาดยา
  • ป้องกันควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่ ลดอาหารเค็ม รักษาควบคุมโรคเรื้องรังต่างๆ ที่ส่งผลให้เกิดโรคของหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน
  • เลิกสูบบุหรี่
  • ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ลดอาหารไขมัน แป้งและน้ำตาล
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามความเหมาะสม
  • ลดความเครียด
โรคหัวใจอาจจะรักษาได้หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเกี่ยวกับอาการของคุณ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจ และควรไปพบแพทย์หากคุณมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจถี่ เหนื่อยง่าย และตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำ


พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล

พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล
อายุรศาสตร์/อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
ศูนย์หัวใจ






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย