โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจ พบได้ไม่บ่อย แต่ร้ายแรง

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจ พบได้ไม่บ่อย แต่ร้ายแรง

โรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจ (cardiac amyloidosis) เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย พบได้ประมาณ 1 ในแสนคนเท่านั้น และเป็นโรคที่อันตรายร้ายแรง ที่เกิดจากร่างกายสร้างโปรตีนอะไมลอยด์ออกมามากเกินไป โดยโปรตีนชนิดนี้มีโครงสร้างผิดปกติทำให้โปรตีนเหล่านี้ไม่ละลายน้ำ จนเกิดการสะสมในกล้ามเนื้อหัวใจและเนื้อเยื่อรอบข้าง ส่งผลทำให้ระบบการทำงานของหัวใจเกิดความผิดปกติ ที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้


โรคอะไมลอยด์โดสิสที่เกี่ยวข้องกับหัวใจมีกี่ชนิด

โรคอะไมลอยด์โดสิสแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ ตามสาเหตุของการเกิดโรค แต่ชนิดที่เกี่ยวข้องกับหัวใจโดยตรง จะมีอยู่เพียง 2 ชนิด ได้แก่

  1. AL amyloidosis เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด เกิดจากความผิดปกติของเม็ดเลือดขาวชนิด plasma cell ในไขกระดูกมีการสร้างโปรตีนที่ช่วยปกป้องร่างกายที่ชื่อว่า immunoglobulin light chain มากผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ จนส่งผลกระทบต่ออวัยวะทั่วร่างกาย เช่น ตับ ไต หัวใจ ลำไส้และเส้นประสาท
  2. ATTR amyloidosis เกิดจากโปรตีน transthyretin หรือ TTR ออกมาโดยมีรูปร่างที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการสะสมของโปรตีนตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะตามเส้นประสาทและหัวใจ แบ่งย่อยได้เป็น 2 ชนิดคือ
    • Hereditary amyloidosis เป็นชนิดที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ทำให้ตับสร้างโปรตีน transthyretin (TTR) ออกมาผิดปกติ
    • Wild-type หรือ senile amyloidosis เกิดจากตับสร้างโปรตีน TTR ออกมาในปริมาณที่ปกติ แต่ผลิตโปรตีน amyloid โดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนใหญ่มักเกิดกับผู้สูงอายุและมักเกิดที่หัวใจ

อาการของโรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจมีอะไรบ้าง

อาการของโรคอะไมลอยด์โดสิส (cardiac amyloidosis) ส่วนใหญ่จะเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และมักมีอาการในผู้สูงอายุตั้งแต่ อายุ 60 ปีขึ้นไป ได้แก่

  • มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย
  • มีอาการใจสั่น มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อาการหน้ามืด ขณะเปลี่ยนท่าทาง อาจทำให้มีอาการคล้ายจะเป็นลม
  • อาการบวม น้ำคั่งอยู่ในร่างกายตามส่วนต่างๆ เช่น ท้อง ขา ข้อเท้า
  • หายใจลำบากเมื่ออยู่ในท่านอน
  • หากรุนแรงมากอาจจะมีอาการน้ำท่วมปอด
  • อาจมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น อาการชาปลายมือ ปลายเท้า

แพทย์วินิจฉัยโรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจได้ย่างไร

การวินิจฉัยโรคนั้นอาจเป็นไปค่อนข้างยาก เนื่องจากอาการแสดงที่ไม่จำเพาะและเกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ในร่างกายหลายระบบ ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติร่วมกับการตรวจร่างกาย หากพบความผิดปกติทางระบบหัวใจ โดยไม่มีประวัติเคยเป็นโรคใดๆ มาก่อน อย่างโรคความดันโลหิตสูง รวมทั้งการตรวจเจอกล้ามเนื้อหัวใจหนาตั้งแต่ 12 มิลลิเมตรขึ้นไป เป็นต้น ซึ่งการตรวจ ได้แก่

  • การเอกซเรย์ปอด
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • ตรวจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)
  • ตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • ตรวจเลือด ดูภาวะซีด หรือวัดระดับ immunoglobulin light chain และ serum immunofixation electrophoresis (IFE)
  • ตรวจปัสสาวะดูโปรตีนรั่วในปัสสาวะ และ urine immunofixation electrophoresis (IFE)
  • ตรวจทางรังสีวิทยา 99mTechnitium pyrophosphate (PYP) scan หรือ bone scan เพื่อแยกชนิดของโรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจ (cardiac amyloidosis)
  • หากวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคอะไมลอยด์โดสิสชนิด ATTR จะมีการตรวจการกลายพันธุ์ของยีน TTR (TTR mutation) เพื่อแยกว่าโรคเกิดจากพันธุกรรมหรือเกิดจากวัย

การรักษาโรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจ

การรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดที่ผู้ป่วยเป็น โดยสามารถแยกได้ ดังนี้

  • โรคอะไมลอยด์โดสิสชนิด AL amyloidosis จะรักษาด้วยการใช้ยาเคมีบำบัด และการปลูกถ่ายไขกระดูกเพื่อแก้สาเหตุที่มาจากโรคเลือด นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจต้องใส่เครื่องกระตุกสัญญาณไฟฟ้าหัวใจ หรือเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจร่วมด้วย่
  • โรคอะไมลอยด์โดสิสชนิด ATTR amyloidosis จะรักษาด้วยการใช้ยา Tafamidis ที่ช่วยชะลอเรื่องการสะสมของโปรตีนอะไมลอยด์ที่หัวใจ ที่ช่วยลดอาการเหนื่อยได้
ทั้งนี้หากสามารถวินิจฉัยโรคอะไมลอยด์โดสิสหัวใจได้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาชีวิตผู้ป่วยและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการรักษา



พญ.พัชรี ภาวศุทธิกุล
แพทย์อายุรศาสตร์/อายุรศาสตร์โรคหัวใจ
ศูนย์หัวใจ






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย