ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก อาการแบบไหนเสี่ยงโรคหัวใจและควรพบหมอ

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

ใจสั่น เจ็บแน่นหน้าอก อาการแบบไหนเสี่ยงโรคหัวใจและควรพบหมอ

ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เจ็บแน่นหน้าอก เหงื่อออกปลายมือ ปลายเท้า โดยแท้จริงแล้วอาจไม่ใช่อาการของโรคหัวใจเสมอไป เนื่องจากโรคหัวใจ มีรูปแบบแสดงอาการผิดปกติที่หลากหลายจำแนกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ 2.หลอดเลือดหัวใจผิดปกติ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งพบได้มากในผู้สูงอายุ 3.ลิ้นหัวใจผิดปกติ และ 4.เยื่อหุ้มหัวใจผิดปกติ การวินิจฉัยที่ชัดเจนและแม่นยำ เพื่อให้รู้แน่ชัดว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่ จึงต้องอาศัยแพทย์เฉพาะทางและการตรวจคัดกรองที่ทันสมัยเพื่อให้รู้เร็ว รู้ไวและรักษาได้อย่างทันเวลา


เช็คด่วนอาการแบบไหนเสี่ยงโรคหัวใจ

  1. อาการเจ็บแน่นหน้าอก เจ็บคล้ายมีเข็มแทง เจ็บแปล๊บๆ เจ็บจุดเดียว กดเจ็บบริเวณหน้าอก เกิดขึ้นขณะพัก มีอาการนานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน อาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนท่า ขยับตัว หรือหายใจเข้าลึกๆ รวมไปถึงเจ็บร้าวขึ้นศีรษะ ปลายมือ ปลายเท้า
  2. ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วและรัวกะทันหัน มีอาการหน้ามืด เป็นลมหมดสติ มีอาการวูบไม่รู้สึกตัวกะทันหัน
  3. หอบเหนื่อยง่ายผิดปกติ เหนื่อย หอบ หายใจเร็ว โดยเป็นขณะออกแรง เป็นขณะพัก ไม่สามารถนอนราบได้ นอนกลางคืนแล้วต้องตื่นมานั่งหอบ เดินใกล้ๆ ก็รู้สึกเหนื่อย จะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องระวังอาจจะเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว
  4. อาการขาบวม ในผู้ป่วยโรคหัวใจเกิดจากหัวใจด้านขวาทำงานน้อยลง เลือดจากขาไม่สามารถไหลกลับเข้าไปที่หัวใจด้านขวาได้สะดวก บริเวณหน้าแข้งหรือบริเวณปลายเท้าทั้ง 2 ข้าง หากใช้นิ้วมือกดลงไปจะพบว่าเนื้อบุ๋มลงไปและเมื่อยกนิ้วขึ้นมาเนื้อก็ยังไม่คืนตัวร่วมกับมีอาการเหนื่อย นอนราบไม่ได้ มีอาการแน่นท้องมากขึ้น

โรคหัวใจสามารถตรวจคัดกรองได้

หากมีอาการดังกล่าวให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจหาความเสี่ยงโรคหัวใจทันที โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพผู้ตรวจและของบุคคลภายในครอบครัว พร้อมกับตรวจร่างกายโดยละเอียดซึ่งจะช่วยให้ระบุได้ว่าเป็นโรคหัวใจ หรือกำลังจะเริ่มเป็นได้ รวมไปถึงแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองโรคหัวใจดังต่อไปนี้

  1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Elektrokardiogram: EKG) คือ การทดสอบจังหวะการเต้นและกิจกรรมทางไฟฟ้าของหัวใจ ระหว่างการตรวจจะมีการติดเซนเซอร์บนผิวหนังเพื่อตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าที่มาจากการเต้นของหัวใจในแต่ละครั้ง ซึ่งสัญญาณเหล่านี้จะถูกบันทึกโดยเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสามารถพิมพ์ออกมาในรูปแบบกระดาษได้ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยเฉพาะเมื่อตรวจในขณะมีอาการ
  2. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือการทำเอคโคหัวใจ (Echocardiogram) เป็นการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้บ่อยในปัจจุบัน เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ เช่น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ การทำงานของลิ้นหัวใจ และดูตำแหน่งของหลอดเลือดต่างๆ ที่เข้า-ออกจากหัวใจ โดยการตรวจนี้ใช้หลักการสะท้อนกลับของคลื่นเสียงความถี่สูงที่เรียกว่า อัลตราซาวด์ (Ultrasound) หรือพูดง่ายๆ ว่าใช้หลักการเดียวกับการตรวจอัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ทางสูตินรีเวชนั่นเอง
  3. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST: Exercise Stress Test) เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกายด้วยการเดินบนสายพาน หรือปั่นจักรยาน โดยวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจพบการตอบสนองที่ผิดปกติได้ เช่น อาการหายใจลำบาก อาการเจ็บแน่นหน้าอก การเต้นของหัวใจผิดปกติ หรืออาจกล่าวได้ว่าวิธีนี้เป็นการตรวจสมรรถภาพของระบบไหลเวียนเลือด ระบบหายใจ และระบบกล้ามเนื้อโดยรวมที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกาย
  4. การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจโดยใช้ Holter Monitor เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชม. ไว้กับตัว โดยที่สามารถกลับไปพักที่บ้านหรือทำงานได้ตามปกติโดยไม่ต้องเสียเวลานอนพักค้างที่โรงพยาบาล และเมื่อครบกำหนด 24 ชม. แล้วจึงกลับมาถอดเครื่องคืนในวันถัดไป และรอรับทราบผลการตรวจวิเคราะห์จากแพทย์
  5. การวินิจฉัยด้วยการสวนหัวใจ การวินิจฉัยด้วยการสวนหัวใจเป็นการตรวจเอ็กซเรย์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยสอดสายยางขนาดเล็กเข้าทางหลอดเลือดที่ขาหนีบ ข้อมือ และสอดไปตามเส้นเลือดที่เข้าสู่หัวใจ สารมีสีชนิดพิเศษจะถูกฉีดผ่านสายยางนี้ เส้นเลือดในบริเวณที่มีภาวะตีบหรืออุดตันก็จะสามารถตรวจพบจากจอภาพเอกซเรย์

ดังนั้น เราจึงควรหมั่นสังเกตตนเองตั้งแต่วันนี้ และถ้ามีปัจจัยเสี่ยง เช่นมีประวัติพ่อแม่หรือคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ มีโรคความดันโลหิตสูง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช็ค เพราะโรคหัวใจหากคุณพบความผิดปกติก่อนการดูแลรักษาจะได้ผลดีกว่า และเป็นอันตรายน้อยกว่าปล่อยให้เกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อชีวิต


Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย