บายพาสหัวใจ (CABG) อีกหนึ่งการรักษาโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ
ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ
บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

บายพาสหัวใจ หรือ การผ่าตัดหัวใจทำทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจ รักษาผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบมากกว่า 70% หรือมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย รวมไปถึงกรณีที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบหลายเส้นหรือตีบในบางตำแหน่งที่หากใช้การรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวดอาจทำให้เส้นเลือดเสียหายได้ เป็นอีกทางเลือกในการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายโดยเฉียบพลันได้ดี
สารบัญ
- การผ่าตัดบายพาสหัวใจ คืออะไร?
- ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดบายพาสหัวใจ
- การผ่าตัดบายพาสใช้รักษาโรคอะไร?
- การวินิจฉัยก่อนผ่าตัดบายพาสหัวใจ
- การผ่าตัดบายพาสหัวใจทำได้กี่วิธี
- หลังผ่าตัดบายพาสหัวใจมีวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไร?
- การผ่าตัดบายพาสมีข้อดีอย่างไร?
- ความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัดบายพาส
- บายพาสหัวใจ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อุดตัน
- ปรึกษาปัญหาสุขภาพ ไม่เสียค่าใช้จ่าย
การผ่าตัดบายพาสหัวใจ คืออะไร?


การผ่าตัดบายพาสหัวใจ หรือ การผ่าตัดทำทางเบี่ยงเส้นเลือดหัวใจ (CABG; Coronary Artery Bypass Grafting) เป็นการผ่าตัดเพื่อทำทางเบี่ยงเสริมเส้นเลือดบริเวณที่ตีบให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น โดยเส้นเลือดที่จะนำมาใช้ ได้แก่ เส้นเลือดแดงบริเวณหน้าอก บริเวณข้อมือ และเส้นเลือดดำบริเวณขา ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพของเส้นเลือดว่าตำแหน่งไหนดีกว่ากัน
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดบายพาสหัวใจ
การตัดสินใจในการผ่าตัดบายพาสหัวใจ คือ ต้องผ่านการประเมินจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ โดยพิจารณาจากความรุนแรงของการตีบตันของหลอดเลือดหัวใจ อาการของผู้ป่วย สุขภาพโดยรวม และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังนี้
- เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบอย่างรุนแรง
- ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
- กรณีที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบหลายเส้นหรือตีบในบางตำแหน่ง ที่หากใช้การรักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวดอาจทำให้เส้นเลือดเสียหายได้
- ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนหลังจากการใส่ขดลวดขยายหลอดเลือดหัวใจ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้
- ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอย่างต่อเนื่องหลังจากการทำบอลลูนหัวใจ และใส่ขดลวดขยายหลอดเลือดหัวใจ
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ที่สัมพันธ์กับการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ
- มีโรคหัวใจชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคผนังกั้นหัวใจห้องล่างทะลุ เป็นต้น
การผ่าตัดบายพาสใช้รักษาโรคอะไร?
การผ่าตัดบายพาสหัวใจ ใช้รักษาโรคและภาวะที่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงหัวใจที่ผิดปกติเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มโรคดังต่อไปนี้
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันรุนแรง หรือหลายเส้น
- กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเรื้อรัง ภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจไม่ได้รับเลือดอย่างเพียงพอต่อเนื่อง
- กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
- ความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจแต่กำเนิด
- มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต ที่สัมพันธ์กับการขาดเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ที่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
- ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
การวินิจฉัยก่อนผ่าตัดบายพาสหัวใจ
ก่อนการผ่าตัดบายพาสหัวใจ ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อประเมินสภาพโดยรวมของร่างกาย ความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจ และความพร้อมสำหรับการผ่าตัด การตรวจวินิจฉัยหลัก ๆ มีดังนี้
- การซักประวัติ เช่น สอบถามเกี่ยวกับอาการเจ็บหน้าอก ความถี่ ความรุนแรง ระยะเวลา และปัจจัยกระตุ้น อาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย ใจสั่น ประวัติโรคประจำตัว ประวัติการรักษาโรคหัวใจ ยาที่รับประทาน การแพ้ยา ประวัติการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และประวัติครอบครัวเกี่ยวกับโรคหัวใจ
- การตรวจร่างกายและการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- การตรวจประเมินหัวใจ ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย การตรวจสวนหัวใจและฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น
- การตรวจอื่น ๆ อาทิ ทำการเอกซเรย์ปอด และเจาะเลือดตรวจสำหรับเตรียมเลือดสำรองไว้

การผ่าตัดบายพาสหัวใจทำได้กี่วิธี


การผ่าตัดบายพาสหัวใจมีหลายวิธี โดยศัลยแพทย์หัวใจจะเป็นผู้ทำการวินิจฉัยและตัดสินใจว่าควรใช้วิธีใดในการผ่าตัดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ได้แก่
- การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (on-pump CABG) เป็นวิธีการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจแบบดั้งเดิม โดยศัลยแพทย์จะหยุดหัวใจผู้ป่วยชั่วคราวระหว่างการผ่าตัด และใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (cardiopulmonary bypass machine) เพื่อทำหน้าที่แทนปอดในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ และทำหน้าที่แทนหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยไม่ผ่านหัวใจ ช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถทำการผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากหัวใจหยุดนิ่งและไม่มีการเคลื่อนไหว เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบหลายเส้น หรือมีการตีบในตำแหน่งที่ซับซ้อน
- การผ่าตัดบายพาสหัวใจโดยไม่ใช้เครื่องปอดหัวใจเทียม (off-pump CABG) โดยศัลยแพทย์จะไม่หยุดหัวใจผู้ป่วยระหว่างการผ่าตัด และไม่ได้ใช้อุปกรณ์พิเศษในการสูบฉีดเลือด เป็นการผ่าตัดแบบหัวใจยังเต้นอยู่โดยใช้เครื่องมือ Local Stabilizer เกาะยึดหัวใจในจุดที่ทำการต่อเส้นเลือดให้หยุดนิ่ง ในขณะที่ส่วนอื่นของหัวใจยังเต้นเป็นปกติ เพื่อหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ จากการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม เช่น ไม่เกิดการอักเสบขึ้นทั่วร่างกาย ไม่เกิดการติดเชื้อของแผลผ่าตัด ลดอัตราการเสียชีวิตหลังผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง และระยะเวลาในการพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นกว่า
หลังผ่าตัดบายพาสหัวใจมีวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไร?
เมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดบายพาสหัวใจเรียบร้อยแล้ว ต้องปฏิบัติตัวดังนี้
- ผ่าตัดบายพาสหัวใจ พักฟื้นกี่วัน โดยผู้ป่วยต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อติดตามการรักษา หลังจากนั้นแพทย์จะอนุญาตให้กลับไปพักฟื้นที่บ้าน
- ผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง และติดตามผลการรักษากับแพทย์อย่างเคร่งครัด
- เมื่อแผลผ่าตัดบายพาสหัวใจหายสนิทประมาณ 10 วันหลังผ่าตัด สามารถอาบน้ำได้
- ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ควบคุมโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
- งดสูบบุหรี่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และจัดการกับความเครียด
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้คอเลสเตอรอลในเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง หากปรุงอาหารควรเลือกใช้น้ำมันพืช แทนเนยหรือน้ำมันจากสัตว์ หรือให้วิธีลวก ต้ม นึ่ง และอบแทนการทอด
- สามารถกลับไปทำกิจกรรมปกติที่เบา ๆ ได้ภายใน 2 เดือน และสามารถกลับไปเล่นกีฬาได้ภายใน 4-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายของผู้ป่วยแต่ละบุคคล
- หากพบว่ามีอาการหลังผ่าตัดบายพาสหัวใจเหล่านี้ อาทิ ไข้สูง หนาวสั่น แผลบวมแดง เจ็บมากผิดปกติ หรือมีหนอง หายใจลำบาก เจ็บหน้าอกรุนแรง ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม ขาบวมมาก หรือปวดขาอย่างรุนแรง ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาโดยด่วน
การผ่าตัดบายพาสมีข้อดีอย่างไร?


การผ่าตัดบายพาสหัวใจ มีข้อดีหลายประการ โดยเฉพาะกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันรุนแรง ข้อดีหลัก ๆ ได้แก่
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ โดยการทำบายพาสช่วยนำเลือดไปเลี้ยงหลอดเลือดที่อุดตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับออกซิเจนและสารอาหารเพียงพอ ลดอาการเจ็บแน่นหน้าอก
- ลดความเสี่ยงของหัวใจวาย (Heart Attack) การผ่าตัดจะสามารถลดโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
- เพิ่มความสามารถในการทำกิจกรรมและคุณภาพชีวิต หลังจากพักฟื้น ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจกรรมได้มากขึ้น เช่น เดิน ออกกำลังกาย ทำงาน โดยมีอาการเหนื่อยน้อยลง
- ในผู้ป่วยบางราย โดยเฉพาะผู้ที่มีความรุนแรงของโรคหลอดเลือดหัวใจมาก การผ่าตัดบายพาสอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้
- ผู้ป่วยบางรายสามารถลดการใช้ยาระงับอาการเจ็บหน้าอก หรือยาลดความดันได้หลังผ่าตัด (แต่ยังต้องมียาบางชนิดที่ต้องใช้ตลอดชีวิต เช่น ยาต้านเกล็ดเลือด)
ความเสี่ยงและอาการแทรกซ้อนจากการผ่าตัดบายพาส
การผ่าตัดบายพาสหัวใจนั้นมีความเสี่ยงอยู่ เนื่องจากเป็นการผ่าตัดใหญ่ จึงอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ อย่างไรก็ตามโอกาสในการเกิดอาการแทรกซ้อนต่ำและส่วนมากสามารถแก้ไขได้ โดยอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้
- ติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด
- มีเลือดออก
- ไตวาย
- อัมพาต
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
บายพาสหัวใจ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อุดตัน
ผ่าตัดบายพาสหัวใจ อันตรายไหม โดยสิ่งสำคัญของการรักษาผู้ป่วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ อุดตัน ด้วยวิธีการผ่าตัดบายพาสหัวใจ คือ การเลือกผ่าตัดรักษากับโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานระดับสากล โดยศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลนครธนมีความพร้อมของทีมแพทย์เฉพาะทางด้านอายุรกรรมหัวใจและศัลยแพทย์หัวใจ และทีมพยาบาลที่มากด้วยประสบการณ์ทางด้านหัวใจ ตลอดจนมีอุปกรณ์ เครื่องมือ และเทคโนโลยีในการรักษาที่ทันสมัย พร้อมด้วยห้องปฏิบัติการสวนหัวใจ ห้องผ่าตัด และห้องพักผู้ป่วยวิกฤตโรคหัวใจที่ได้มาตรฐาน สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมั่นใจในการผ่าตัด เห็นผลดี และผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ช่องทางติดต่อโรงพยาบาลนครธน:
- - Website : https://www.nakornthon.com
- - Facebook : Nakornthon Hospital
- - Line : @nakornthon
- - Tel: 02-450-9999 (ตลอด 24 ชั่วโมง)
ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
บทความทางการแพทย์ศูนย์หัวใจ