ยาฉีดไมเกรนต้านสาร CGRP ระงับอาการปวดศีรษะไมเกรน

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

ยาฉีดไมเกรนต้านสาร CGRP ระงับอาการปวดศีรษะไมเกรน

ไมเกรน (Migraine) ถือเป็นโรคทางระบบประสาทชนิดเรื้อรัง ที่ผู้ป่วยจะมีอาการปวดศีรษะระดับปานกลางไปจนขั้นรุนแรงและเป็นเรื้อรัง บางครั้งอาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิต สร้างความยากลำบากในการทำงาน โดยผู้ที่เป็นไมเกรนชนิดเรื้อรังอาจส่งผลกระทบกลายเป็นโรคนอนไม่หลับ โรคซึมเศร้าได้ อาการปวดศีรษะไมเกรนสามารถรับประทานยาเพื่อบรรเทาได้ แต่ในบางกรณีที่มีอาการรุนแรงก็ไม่อาจบรรเทาได้ การรักษาด้วยการใช้ยาฉีดไมเกรนต้านสาร CGRP ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการปวดศีรษะ ถือว่าเป็นอีกทางเลือกที่สามารถบรรเทาอาการปวดศีรษะไมเกรน ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น


สาร CGRP เกี่ยวกับอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างไร

CGRP ย่อมาจาก Calcitonin Gene-related Peptide เป็นสารสื่อประสาทหรือนิวโรเปปไทด์ชนิดหนึ่งในร่างกาย ที่ออกฤทธิ์เกี่ยวกับกลไกการรับความปวดผ่านเส้นประสาทสมอง โดยเฉพาะเส้นประสาทคู่ที่ 5 ซึ่งเป็นเส้นประสาทหลักในการนำความปวดบริเวณศีรษะ ต้นคอ และใบหน้า สารCGRP ตัวนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดสมองเกิดการขยายตัว และในผู้ที่ปวดศีรษะไมเกรนแบบเฉียบพลันจะพบสารนี้ในเลือดสูงขึ้นกว่าคนปกติ


ปัจจัยใดบ้างที่ไปกระตุ้น CGRP

ปัจจัยที่ไปกระตุ้นสารสื่อประสาท CGRP หลั่งออกมาจำนวนมาก จนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • ดวงตาที่รับแสงจ้าเกินไป
  • จมูกรับกลิ่นควันบุหรี่ ควันธูปหรือน้ำหอม
  • ลิ้นรับรสผงชูรส ชีส หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน
  • การพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • ความเครียด

ยาฉีดไมเกรนต้านสาร CGRP

ผู้ที่เป็นไมเกรนนั้น บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะได้บ่อยเกือบทุกวัน ซึ่งการรับประทานยาแก้อาการปวดแบบเฉียบพลัน เช่น ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยากลุ่มทริป-แทน (Triptans) และยากลุ่มเออร์โกตามีนดังกล่าวที่ไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการได้ จะส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หรือไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง

ปัจจุบันจึงมีการพัฒนายาฉีดต้านสารสื่อประสาท CGRP ในร่างกาย คือ ยากลุ่ม CGRP Monoclonal Antibody ซึ่งเป็นการยับยั้งที่ต้นเหตุของอาการปวดศีรษะจากโรคไมเกรนโดยตรง ไม่ต้องรอให้เกิดอาการปวดก่อนเหมือนที่ผ่านมา รวมทั้งสามารถลดจำนวนวันที่ปวดศีรษะไมเกรนและลดปริมาณการใช้ยาแก้ปวดได้ นอกจากนี้ยังเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยไมเกรนอีกด้วย

ยาฉีดไมเกรนตัวนี้สามารถใช้รักษาผู้ป่วยโรคไมเกรนได้ทั้งแบบปวดศีรษะไม่เรื้อรัง คือ น้อยกว่า 15 วัน/เดือน และ แบบปวดศีรษะไมเกรนชนิดเรื้อรัง คือ มากกว่า 15 วัน/เดือน รวมไปถึง ไมเกรนชนิดไม่ตอบสนองต่อยาป้องกันชนิดอื่น ๆ และไมเกรนชนิดที่มีการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด


ยาฉีดไมเกรน ใช้อย่างไร

CGRP Monoclonal Antibody เป็นยาฉีดใต้บริเวณผิวหนัง จะออกฤทธิ์ได้นาน 28 วัน หรือประมาณ 1 เดือนต่อ 1 เข็ม โดยแพทย์แนะนำให้ฉีดต่อเนื่องอย่างน้อย 3-6 เดือน จะทำให้เห็นผลชัดเจนขึ้น และช่วยทำให้อาการปวดหัวไมเกรนลดลงได้

ซึ่งผู้ป่วยไมเกรนที่ได้รับยานี้ สามารถลดความรุนแรงและความถี่ในการปวดหัวไมเกรนได้ถึงร้อยละ 50 เช่น ในหนึ่งเดือนเคยปวดหัวจากไมเกรน 10 ครั้ง ก็จะเหลือเพียง 2-3 ครั้ง ในขณะที่การรับประทานยาจะช่วยลดความถี่ในการปวดศีรษะไมเกรนได้เพียง 2-3 ครั้ง จาก 10 ครั้ง


ผลข้างเคียง

ในด้านของผลข้างเคียงเกิดขึ้นน้อยหรือแทบไม่มีเลย โดยที่พบนั้นชนิดไม่รุนแรง เช่น เจ็บหรือมีรอยแดงบริเวณที่ฉีดยา ท้องผูก เป็นต้น ทั้งนี้ ยาฉีดไมเกรนต้านสาร CGRP มีความปลอดภัยในระยะยาว ซึ่งมีความปลอดภัยสูงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจไม่เปลี่ยนแปลง และไม่มีผลต่อการทำงานของตับด้วย

อย่างไรก็ตามการรักษาโรคไมเกรนนอกเหนือจากการใช้ยาแล้ว สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดอาการปวดศีรษะไมเกรน คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เช่น ภาวะนอนไม่หลับ ความเครียด ความอ่อนล้า ความหิว การรับประทานอาหารบางชนิด การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมในการรักษาโรคไมเกรนหรือปรึกษาแพทย์ได้ที่ ศูนย์สมองและระบบประสาท เบอร์ 024509999 ต่อ 1050-1051


นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา
ประสาทวิทยา/ โรคหลอดเลือดสมองและการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นความถี่สูง
ศูนย์สมองและระบบประสาท






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย