รู้หรือไม่? คนที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรค ‘งูสวัด’ ได้ทุกคน!

ศูนย์ : คลินิกผู้สูงอายุ

บทความโดย : นพ. ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง

รู้หรือไม่? คนที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรค ‘งูสวัด’ ได้ทุกคน!

งูสวัดเป็นโรคที่อยู่ในตัวผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว เมื่อร่างกายภูมิตก อ่อนแอ พักผ่อนน้อย เครียด ไม่ออกกำลังกาย งูสวัดถึงออกมาได้ ซึ่งสามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัยที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ผ่านมากลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยรุนแรงสูงสุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป และมีแนวโน้มผู้ที่เป็นโรคนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเรามาทำความรู้จักโรคนี้กันดีกว่า


โรคงูสวัด เกิดจากอะไร

โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (VZV; Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นไวรัสตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เมื่อเป็นโรคโรคอีสุกอีใสและหายแล้ว เชื้อนี้จะหลบอยู่ในร่างกายเรา จนเมื่อร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง โดยแสดงอาการออกมา ได้แก่ มีตุ่มน้ำใสขึ้นเป็นกระจุก ร่วมกับอาการปวดแสบปวดร้อนตามแนวเส้นประสาท นอกจากนี้อายุที่มากขึ้น การนอนไม่พอ มีภาวะเครียด ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

โรคงูสวัดสามารถติดต่อกันผ่านทางการหายใจหรือสัมผัสกับตุ่มน้ำใสในผู้ป่วยโดยตรง หากผู้ที่ได้รับเชื้อเข้าไปและยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ก็จะเป็นเพียงโรคอีสุกอีใสเท่านั้น แต่หากเคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อนี้อาจจะเข้าไปซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย รอเวลาว่าเมื่อใดที่ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าปกติก็จะแสดงอาการโรคงูสวัด

> กลับสารบัญ


อาการของโรคงูสวัดเป็นอย่างไร

อาการของงูสวัดจะมี 3 ระยะ ได้แก่

  • ระยะแรก จะมีไข้ต่ำ ปวดเมื่อย ปวดแสบปวดร้อนตามร่างกายบริเวณที่กำลังจะมีผื่นขึ้นเพราะเส้นประสาทเกิดการอักเสบ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย อาจมีอาการปวดนำมาก่อนที่จะเกิดผื่นผิวหนัง ที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคหัวใจขาดเลือดได้
  • ระยะที่สอง มีผื่นและเป็นตุ่มแดงขึ้นก่อนและกลายเป็นตุ่มน้ำพองใส
  • ระยะที่สาม เกิดผื่นเป็นตุ่มน้ำและมีการเรียงตัวตามแนวเส้นประสาท ซึ่งอาจเกิดขึ้นบริเวณชายโครง หลัง ท้อง ลำคอ หรือใบหน้าและดวงตา ร่วมกับอาการปวดแสบปวดร้อน คัน รู้สึกเหมือนถูกไฟไหม้หรือไฟลวก ทั้งนี้ หลังจากแผลหายอาจเกิดอาการแทรกซ้อน ได้แก่ อาการปวดเรื้องรังตามแนวเส้นประสาท และสูญเสียการมองเห็นหากเกิดที่บริเวณใบหน้าและดวงตาตามมาได้

> กลับสารบัญ


ใครเสี่ยงเป็นโรคงูสวัดได้บ้าง

  1. ผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสทุกคน มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัด หากภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่แข็งแรงพอ
  2. ผู้สูงอายุที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เพราะมีภูมิต้านทานเริ่มเสื่อมถอยลง ส่งผลให้เชื้อไวรัสเข้าโจมตีร่างกายได้ง่ายขึ้น หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจล้มเหลว โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  3. ผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ เครียด หรือมีการบาดเจ็บ นอนไม่ค่อยหลับ รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ไม่ค่อยออกกำลังกาย
  4. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องเข้ารับเคมีบำบัด และผู้ที่ได้รับยากดภูมิ

> กลับสารบัญ


ทำไมผู้สูงอายุจึงมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคงูสวัด

ผู้สูงอายุที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลง ทำให้เชื้อไวรัสที่ซ่อนอยู่ในร่างกายแสดงอาการและก่อให้เกิดโรคงูสวัดออกมา

> กลับสารบัญ


ป้องกันโรคด้วยวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด

ในผู้สูงอายุ โรคจะแพร่กระจายและมีความรุนแรงมากกว่าปกติ โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป และมีประวัติเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ด้วยการเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ซึ่งจะสามารถป้องกันและลดภาวะการเกิดโรคงูสวัด และป้องกันภาวะปวดเรื้อรัง หรือลดการเจ็บปวดของโรคเมื่อผื่นโรคงูสวัดหายไป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด อยู่ 2 ชนิด ได้แก่

  • วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิด Zoster vaccine live (ZVL) อาจพิจารณาให้ ZVL ในผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยฉีด 1 เข็ม
  • วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ชนิด Recombinant subunit zoster vaccine (RZV) ในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือในผู้ที่เป็นมะเร็งก่อนได้รับยากดภูมิ โดยฉีด 2 เข็ม ขนาด 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 2-6 เดือน และผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปที่มีความเสี่ยงต่อโรคงูสวัดมากกว่าปกติ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ฉีด 2 เข็มเข้ากล้ามเนื้อ ห่างกัน 1-2 เดือน

> กลับสารบัญ


นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดแล้ว การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง จะเป็นอีกทางในป้องกันการเกิดโรคงูสวัด




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย