โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง ระเบิดเวลาที่อันตรายถึงชีวิต

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง ระเบิดเวลาที่อันตรายถึงชีวิต

โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง ถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายไม่แพ้โรคเส้นเลือดสมองตีบตัน เป็นโรคที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ที่อาจไม่มีอาการ และแทบจะไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ หรือมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรงเฉียบพลัน อาการเหน็บชาตามร่างกาย แขนขาอ่อนแรง ชา ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง เป็นต้น จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เส้นเลือดที่โป่งพองนั้นแตก หากเป็นแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน คือ หลอดเลือดสมองแตกจนเลือดออกในสมอง อาจนำไปสู่ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือการเสียชีวิตได้อย่างกะทันหัน



โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพองเกิดจากอะไร?

โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง (Cerebral Aneurysm) เกิดจากความผิดปกติและการเสื่อมสภาพของผนังเส้นเลือดในสมองบางตำแหน่งมีลักษณะบางกว่าบริเวณอื่น เมื่อมีความดัน หรือมีกระแสเลือดไหลผ่านไประยะหนึ่งจะทำให้บริเวณผนังหลอดเลือดที่บางนั้นโป่งพองขึ้นคล้ายบอลลูน และอาจแตกออกได้ในเวลาต่อมา ซึ่งจะก่อให้เกิดการเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง

> กลับสารบัญ


สาเหตุเส้นเลือดในสมองโป่งพอง

สาเหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมสภาพของผนังหลอดเลือดนั้นส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมของหลอดเลือดจากอายุที่มากขึ้น พบได้บ่อยและเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป การที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้ผนังหลอดเลือดไม่แข็งแรง โรคถุงน้ำที่ไต ภาวะเส้นเลือดแดงใหญ่ตีบ การได้รับอุบัติเหตุทางสมองที่มีการบาดเจ็บของเส้นเลือดสมอง การใช้สารเสพติดบางชนิดที่มีผลให้หลอดเลือดเสื่อม

> กลับสารบัญ


เส้นเลือดในสมองโป่งพองมีอาการอย่างไร?

โดยทั่วไปโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพองจะไม่แสดงอาการแต่อย่างใด อาการแสดงก็ต่อเมื่อเส้นเลือดแตก หรือมีการโป่งพองจนไปกดทับเนื้อเยื่อสมองหรือเส้นประสาทสมอง อาการของโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง ที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการปวดหัวอย่างรุนแรงที่สุดในชีวิตแบบไม่เคยเป็นมาก่อนและเป็นแบบทันทีทันใด ร่วมกับอาการ คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ตามัว ชัก หนังตาตก สับสน หมดสติ หน้าเบี้ยวครึ่งซีก มีอาการเหน็บชาตามร่างกายครึ่งซีก พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด รวมถึงมีอาการกลืนลำบาก และสำลักโดยมีกลุ่มอาการแบ่งออกได้ดังนี้

  • กลุ่มที่มีเส้นเลือดสมองโป่งพองขนาดใหญ่ หากมีเส้นเลือดโป่งพองขนาดใหญ่แล้วกดทับเนื้อเยื่อสมองหรือเส้นประสาทสมอง อาการที่แสดงออกมาจะขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกกดทับ เช่น หนังตาตก ภาพซ้อน ปวดศีรษะข้างเดียว ในรายที่มีลิ่มเลือดเกิดขึ้นในหลอดเลือดบริเวณที่โป่งพอง แล้วหลุดไปอุดหลอดเลือดส่วนปลาย จะมีอาการของเส้นเลือดสมองอุดตัน เช่น แขนขาอ่อนแรง ชา ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง เป็นต้น
  • กลุ่มที่มีการแตกออกของเส้นเลือดสมองโป่งพอง ทำให้เกิดภาวะเลือดออกใต้เยื่อหุ้มสมอง ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะโดยเฉพาะบริเวณต้นคออย่างรุนแรง และเฉียบพลัน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ผู้ป่วยบางรายอาจหมดสติหลังจากปวดศีรษะ เมื่อฟื้นขึ้นมาจะยังคงมีอาการปวดศีรษะ และต้นคออย่างรุนแรง ถ้าร่างกายหยุดเลือดไม่ได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตทันที แต่ถ้าเลือดหยุดได้ ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยเลือดออกในชั้นต่างๆ ของสมอง เช่น เลือดออกในช่องใต้เยื้อหุ้มสมอง หรือเลือดออกในเนื้อสมอง เป็นต้น

> กลับสารบัญ


ปวดศีรษะแบบนี้ต้องรีบมาพบแพทย์

  • ปวดศีรษะแบบผิดปกติ ชนิดที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้ว่าทุกคนเคยปวดศีรษะ แต่เมื่อไรก็ตามที่ปวดแล้วรู้สึกว่าคราวนี้ต่างออกไป ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน โดยเฉพาะอาการปวดที่รุนแรงมากและเกิดทันทีทันใด
  • มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะร่วมกับแขนขาอ่อนแรง แม้ว่าผู้ป่วยจะดูอาการทุเลาลง พูดคุยได้ เดินได้ตามปกติ

> กลับสารบัญ



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การตรวจและวินิจฉัยเส้นเลือดโป่งพองในสมอง?

โรคนี้จะรู้ตัวได้ก็ต่อเมื่อมีอาการปวดศีรษะ หรือเกิดอาการที่แสดงออกมากแล้วเท่านั้น การตรวจสุขภาพจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ตรวจพบโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองได้ โดยการตรวจอาศัยการถ่ายภาพรังสีด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT Scan) การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยการฉีดสารทึบรังสี (Cerebral Angiography)

> กลับสารบัญ


การรักษาเส้นเลือดสมองโป่งพอง

แพทย์จะพิจารณาถึงตำแหน่ง ขนาด และรูปร่างของเส้นเลือดที่โป่งพอง รวมถึงอายุ และสุขภาพของผู้ป่วยด้วย โดยเส้นเลือดสมองโป่งพองในสมองจะมีวิธีการรักษา ดังนี้

  1. การใช้คลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง (Microsurgical Clipping) เป็นวิธีการห้ามไม่ให้มีเลือดผ่านเข้าไปบริเวณที่มีการโป่งพอง เพื่อป้องกันไม่ให้หลอดเลือดขยายมากขึ้นจนอาจเกิดการแตกออกของเส้นเลือดได้
  2. การแยงสายเข้าไปในหลอดเลือดแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Coil Embolization) เป็นทางเลือกการรักษาภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ไม่ต้องผ่าตัด ด้วยการทำหัตถการผ่านหลอดเลือดโดยใช้สายสวนสอดเข้าทางหลอดเลือดบริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ ไปยังหลอดเลือดก่อนถึงตำแหน่งโป่งพอง แล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดหลอดเลือดที่โป่งพองนั้น ซึ่งจะทำให้เลือดที่ไหลเวียนผ่านเข้าไปในจุดที่โป่งพองหยุดลง พร้อมกระตุ้นให้เกิดการสร้างลิ่มเลือดขึ้นภายในทำให้จุดโป่งพองนี้อุดตันและไม่เกิดเลือดออกซ้ำอีก สามารถทำได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ยังไม่แตก และภาวะหลอดเลือดสมองโป่งพองที่แตกแล้วมีเลือดออกในเยื่อหุ้มสมอง ทั้งนี้ขึ้นกับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
  3. การผ่าตัดสมอง เพื่อปิดซ่อม ผนังหลอดเลือดที่โป่งพอง หากมีก้อนเลือดในสมอง แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาก้อนเลือดในเนื้อสมองออก
  4. ในกรณีที่หลอดเลือดสมองโป่งพองมีขนาดเล็ก มีโอกาสในการแตกต่ำมาก จะใช้วิธีตรวจติดตามด้วยเครื่องตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสนามแม่เหล็ก (MRA) เป็นระยะๆ และเมื่อพบว่ามีขนาดใหญ่ขึ้นจึงจะทำการรักษา

> กลับสารบัญ


การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองที่ดีคือ การตรวจสุขภาพประจำปี ควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น งดอาหารเค็ม อาหารที่มีไขมันสูง ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ งดใช้สารเสพติดต่างๆ และรับการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพองแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้โรคเส้นเลือดโป่งพองในสมองเป็นภัยเงียบที่ไม่อาจทราบได้ล่วงหน้า หากมีอาการปวดหัวที่ผิดปกติควรรีบเข้าพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมองและระบบประสาทเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาก่อนที่อาการจะรุนแรง และยากต่อการรักษา

นพ.ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา นพ.ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

นพ.ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

ประสาทวิทยา/โรคหลอดเลือดสมองและการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นความถี่สูง
ศูนย์สมองและระบบประสาท






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย