ถ่ายเป็นเลือด ไม่ใช่แค่ริดสีดวงทวาร แต่อาจเป็นสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่

ศูนย์ : ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความโดย : นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์

ถ่ายเป็นเลือด ไม่ใช่แค่ริดสีดวงทวาร แต่อาจเป็นสัญญาณมะเร็งลำไส้ใหญ่

การขับถ่ายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องทำเป็นกิจวัตร แต่เมื่อใดที่มีการถ่ายเป็นเลือด หรือพบถึงการเปลี่ยนแปลงของสีอุจจาระเพียงเล็กน้อย นั้นหมายถึงการเกิดความผิดปกติภายในระบบทางเดินอาหารแน่นอน ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าเป็นเพียงแค่ริดสีดวงทวาร ไม่ทันคาดคิดว่าการถ่ายเป็นเลือดนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ จึงไม่ควรชะล่าใจเมื่อเกิดอาการนี้ขึ้นกับคุณ



ถ่ายเป็นเลือด สัญญาณที่ต้องระวัง

การถ่ายเป็นเลือด เป็นลักษณะอาการที่มีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากทวารหนัก ถ่ายอุจจาระแล้วมีเลือดหรือลิ่มเลือดปนอยู่ หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีแดงเข้ม สาเหตุหลักที่มักทำให้ถ่ายเป็นเลือดเกิดจากความผิดปกติภายในระบบทางเดินอาหาร ตั้งแต่กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ หรือบาดแผลที่เส้นเลือดดำส่วนปลายทวารหนัก ซึ่งการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดเป็นจุดเริ่มต้นของโรคที่อาจมีความรุนแรงมากกว่าโรคริดสีดวงทวารได้

> กลับสารบัญ


จะสังเกตอย่างไรว่าอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร

เบื้องต้นให้สังเกตสีของอุจจาระของตัวเองทุกวัน มีความผิดปกติหรือเปลี่ยนแปลงไปหรือ หากมีภาวะอุจจาระปนเลือด หรือถ่ายดำ อาจเกิดจากความผิดปกติของทางเดินอาหารส่วนต้น เช่น แผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็ก แต่หากเลือดออกลำไส้ใหญ่ จะมีอาการถ่ายเป็นเลือดสด หรือไม่มีอาการชัดเจน แต่อาจมีอาการอื่นๆ แทน เช่น อ่อนเพลีย หน้ามืด เหนื่อยง่ายเป็นต้น มักเกิดในผู้สูงอายุ

> กลับสารบัญ


โรคอันตรายที่เริ่มต้นมาจากการถ่ายเป็นเลือด

การถ่ายเป็นเลือดอาจเป็นการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อยไปจนถึงสัญญาณอันตรายของปัญหาสุขภาพที่สำคัญ โดยความรุนแรงของโรคสามารถดูได้จากปริมาณของเลือดที่ถ่ายออกมา ระยะเวลาและจำนวนครั้งที่ถ่ายเป็นเลือด ซึ่งผู้ที่มีเลือดออกมากก็จะมีโอกาสเกิดโรคมากกว่า หรือการมีเลือดหยดหลังจากถ่ายอุจจาระ การถ่ายเป็นเลือดเป็นจุดเริ่มต้นของโรคอันตราย ดังนี้

  • เลือดออกในกระเพาะอาหาร เกิดจากความผิดปกติบริเวณทางเดินอาหาร โดยอาการนั้นอาจเริ่มจากอาเจียนออกมาเป็นเลือดก่อน ตามด้วยอุจจาระเป็นเลือดสีเข้มจนเกือบดำ บางรายอาจรู้สึกอ่อนเพลีย หน้ามืด เหนื่อยง่าย และอาจเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งกระเพาะอาหารได้
  • เลือดออกในลำไส้ใหญ่ เป็นอาการที่มีการถ่ายเป็นเลือดสด หรือลิ่มเลือดไหลออกมาพร้อมกับอุจจาระ แต่ไม่มีอาการปวดแสบทวารหนัก อาจเกิดจากการมีเลือดออกในลำไส้ใหญ่
  • โรคลำไส้ขาดเลือด เป็นภาวะที่เกิดจากเลือดไม่สามารถเข้าไปไหลเวียนเลี้ยงผนังลำไส้ได้ ทำให้เซลล์ลำไส้ขาดเลือด หากมีอาการถ่ายเป็นเลือดแสดงว่าอาการเริ่มหนักแล้ว รวมทั้งมีอาการปวดเกร็งท้อง อาจปวดมากจนหมดสติ และเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้
  • โรคติ่งเนื้องอกลำไส้ใหญ่ ติ่งเนื้องอกนี้มีลักษณะกลม สีออกชมพู อาจมีก้อนเดียวหรือหลายก้อน สามารถเกิดได้ทุกส่วนของลำไส้ใหญ่ และสามารถพัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ โดยมักไม่มีอาการแสดงเด่นชัด แต่อาจถ่ายเป็นเลือดแบบเป็นๆ หายๆ
  • โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่อยู่ในอันดับต้นๆ ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด ส่วนใหญ่พบในคนที่อายุมากกว่า 50 ปี โดยจะมีอาการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด หรือถ่ายดำ บางรายมาพบแพทย์เพราะอ่อนเพลียอ่อนแรงแบบไม่มีสาเหตุ หรือจากการเสียเลือดจนเป็นโลหิตจาง

> กลับสารบัญ



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

มะเร็งลำไส้ใหญ่ กับการถ่ายเป็นเลือด

ส่วนใหญ่จะพบว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ต่อเมื่อมาตรวจคัดกรอง หรือมีอาการถ่ายเป็นเลือด หรือถ่ายดำ ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นที่คนป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ บางคนถ่ายอุจจาระปนเลือด หรือบางคนถ่ายออกมาเป็นเลือดโดยไม่มีอุจจาระปนเลย ซึ่งการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่นั้น ทำได้โดยการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่เป็นท่อขนาดเล็กที่มีกล้องติดอยู่ที่ส่วนปลายสอดเข้าไปทางทวารหนักเพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในลำไส้ใหญ่ ทำให้แพทย์สามารถเห็นรายละเอียดต่างๆ ตลอดทั้งลำไส้ใหญ่ส่วนต้นและส่วนปลายได้ อีกทั้งแพทย์สามารถตัดชิ้นเนื้อนั้นออกมาตรวจได้โดยตรง

> กลับสารบัญ


การวินิจฉัยโรคและแนวทางการรักษาอาการถ่ายเป็นเลือด

ปัญหาของการถ่ายเป็นเลือด อาจจะมาจากหลายสาเหตุ โดยแนวทางการรักษาแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ตามอาการหนักเบา

1. ถ่ายเป็นเลือดปนเล็กน้อย

กรณีที่หากพบว่าเป็นอาการถ่ายเป็นเลือด ที่มีเลือดปนเพียงเล็กน้อยอาจเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่รุนแรง เช่น อาการท้องผูก สามารถดูแลรักษาอาการได้ด้วยตัวเองด้วยวการปรับพฤติกรรมและยังไม่จำเป็นต้องใช้ยาในการรักษา เช่น รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง ดื่มน้ำมาก ๆ ฝึกสุขนิสัยการขับถ่าย และปฏิบัติตามแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันอาการท้องผูก

2. ถ่ายเป็นเลือดออกในปริมาณมาก

หากถ่ายเป็นเลือดในปริมาณมาก ถ่ายเป็นเลือดบ่อย ในระยะเวลาที่ติดต่อกันเป็นเวลานานควรไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการรักษาตามอาการที่ผู้ป่วยเผชิญอยู่ เช่น การเสียเลือดมาก สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรง มีเลือดออกมาก ตรวจพบว่ามีภาวะความดันโลหิตต่ำ เวียนศีรษะ เป็นลม ช็อค แพทย์อาจจะต้องให้เลือดหรือน้ำเกลือเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไป และอาจพิจารณาจ่ายยารักษาให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแทน

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการถ่ายเป็นเลือดในปริมาณมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการรักษาที่ต้นตอสาเหตุ โดยแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงแล้วจึงวางแผนการรักษา เช่น หากเกิดอาการผิดปกติควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจอุจจาระเพื่อค้นหาภาวะเลือดออก หรือ ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เพื่อให้แพทย์จะได้ทำการรักษาอย่างเหมาะสม

> กลับสารบัญ


แนวทางการรักษา

  1. การรักษาแผลที่ทวารหนัก โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนั่งแช่น้ำอุ่นจะช่วยบรรเทาแผล และบริเวณที่เป็นริดสีดวงทวาร โดยการรักษาในแนวทางนี้ควรรักษาอาการท้องผูกควบคู่ไปด้วย
  2. การห้ามเลือด แพทย์จะสอดกล้องพร้อมเครื่องมือไปทางทวารหนัก และตรวจหาตำแหน่งอวัยวะภายในที่เสียหายและมีเลือดออก เพื่อฉีดสารให้เลือดหยุดไหล โดยอาจใช้เลเซอร์ หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ยึดปิดเส้นเลือดที่เสียหายและมีเลือดไหล
  3. การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร แพทย์อาจพิจารณาให้ผู้ป่วยตรวจสุขภาพระบบทางเดินอาหาร ด้วยวิธีการส่งกล้องเพื่อเช็คสุขภาพลำไส้ โดยผู้ที่เหมาะกับการเข้าโปรแกรมนี้ มักมีสัญญาณเตือนปัญหาสุขภาพ ได้เช่น
    • มีอาการท้องอืด แน่นท้อง ปวดท้องเป็นๆ หายๆ
    • ท้องผูกสลับท้องเสีย หรือท้องเสียเรื้อรัง
    • ถ่ายเป็นเลือด ขนาดของอุจจาระที่เล็กลง
    • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  4. การให้ยา ในบางโรคแพทย์อาจจ่ายยาเพื่อรักษาอาการ เช่น ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหาร รวมไปถึงการให้ยาต้านการอักเสบเพื่อรักษาลำไส้ใหญ่อักเสบ
  5. การผ่าตัด ในบางกรณีแพทย์อาจต้องทำการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดนำติ่งเนื้อออก ผ่าตัดนำเนื้อร้ายจากการป่วยมะเร็ง หรือผ่าตัดนำเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหายจากการบาดเจ็บหรืออักเสบออกไป เป็นต้น

> กลับสารบัญ



ทั้งนี้ หากพบว่าถ่ายเป็นเลือด หรืออุจจาระปนเลือด อย่าได้นิ่งนอนใจ เพราะอาจนำมาสู่การเป็นโรคร้ายดังที่กล่าวมาข้างต้นได้ ควรเข้ามาพบแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินอาหารและตับ เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด จากการซักประวัติ หรือการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร เพื่อดูรอยโรคที่ทำให้เกิดเลือดออกหรือไม่ ตรงจุดใด และแนะนำการรักษาต่อไป

นพ.สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์ นพ.สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์

นพ.สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์
อายุรศาสตร์/อายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร
ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย