ตรวจสมองก่อน รู้ทัน ป้องกันอัมพาต โดยการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : ผศ.นพ. อิทธิชัย ศักดิ์อรุณชัย

ตรวจสมองก่อน รู้ทัน ป้องกันอัมพาต โดยการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี

ปัญหาโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ถ้าอาการรุนแรง ตรวจพบได้ช้า อันตรายถึงชีวิต ถ้าหากอาการไม่รุนแรง ก็อาจจะกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือสูญเสียการควบคุมอวัยวะบางส่วนไป เกิดอาการชา แขน ขา อ่อนแรง ชาครึ่งซีก รวมถึงการสูญเสียความจำ เกิดภาวะสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ได้ ปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นภัยเงียบที่อันตรายมาก แต่ปัญหานี้สามารถรู้ทัน และป้องกันได้ โดยการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี (Cerebral Angiography) ที่สามารถตรวจหาความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง รวมทั้งวินิจฉัยโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง และโรคเส้นเลือดขอดในสมองที่นำมาสู่ภาวะหลอดเลือดสมองแตกได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างชัดเจน และวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง


โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง และโรคเส้นเลือดขอดในสมอง ภัยร้ายที่อันตรายถึงชีวิด

โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง ถือเป็นภัยเงียบที่อันตรายไม่แพ้โรคเส้นเลือดสมองตีบตัน เป็นโรคที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ ไม่มีอาการ และแทบจะไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เส้นเลือดที่โป่งพองนั้นแตก โดยโรคนี้เกิดจากความผิดปกติและการเสื่อมสภาพของผนังเส้นเลือดในสมองบางตำแหน่งมีลักษณะบางกว่าบริเวณอื่น เมื่อมีความดัน หรือมีกระแสเลือดไหลผ่านไประยะหนึ่งจะทำให้บริเวณผนังหลอดเลือดที่บางนั้นโป่งพองขึ้นคล้ายบอลลูน และอาจแตกออกได้ในเวลาต่อมา ซึ่งจะก่อให้เกิดการเลือดออกในชั้นใต้เยื่อหุ้มสมอง นำไปสู่ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือการเสียชีวิตได้อย่างกะทันหัน

โรคเส้นเลือดขอดในสมอง เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดที่มีลักษณะเป็นกลุ่มของหลอดเลือดที่มีขนาดผิดปกติ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วน คือ หลอดเลือดแดง หลอดเลือดขอด และหลอดเลือดดำที่สัมพันธ์กัน โดยหลอดเลือดแดงจะนำเลือดไปสู่บริเวณหลอดเลือดขอดและไหลเวียนออกไปทางหลอดเลือดดำ โดยโรคนี้นำไปสู่ภาวะเลือดออกในสมองซึ่งถ้าปริมาณเลือดที่ออกมากอาจกดต่อเนื้อสมองที่ปกติ ซึ่งหากเลือดออกปริมาณมากอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้


สัญญาณเตือนที่ควรรีบมาตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี

  • อาการปวดหัวอย่างรุนแรงที่สุดในชีวิตแบบไม่เคยเป็นมาก่อนและเป็นแบบทันทีทันใด ร่วมกับอาการ คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ตามัว ชัก หนังตาตก สับสน หมดสติ หน้าเบี้ยวครึ่งซีก มีอาการเหน็บชาตามร่างกายครึ่งซีก พูดไม่ได้ พูดไม่ชัด รวมถึงมีอาการกลืนลำบาก และสำลัก
  • มีอาการชัก ปวดศีรษะรุนแรง และอาการทางระบบประสาท เช่น หมดสติจากเส้นเลือดขอดในสมองแตก หรือมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาตของแขนขาซีกใดซีกหนึ่ง

โดยจากอาการดังกล่าว จำเป็นต้องตรวจเบื้องต้นด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI scan) เบื้องต้นก่อน ถ้ามีข้อบ่งชี้ของการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี แพทย์จะทำการส่งตรวจทันที


การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี


รู้ทันได้ด้วยการตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดสมอง

นอกจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเลือดแล้ว ยังมีความจำเป็นที่จะต้องตรวจโดยอาศัยเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีพิเศษต่างๆ เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติม โดยการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี (Cerebral Angiography) จะทำให้ตรวจพบความผิดปกติของหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดแดงหรือดำ เพื่อหาว่าหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดที่ลำคอมีการตีบ อุดตัน โป่งพอง และ เส้นเลือดขอดหรือไม่และร้ายแรงเพียงใด

การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี มีข้อดีตรงที่สามารถทำการตรวจวินิจฉัยในหลอดเลือดสมองได้อย่างชัดเจนที่สุด เมื่อเทียบกับการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือตรวจด้วยเอกซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นต้น


การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี

การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี (Cerebral Angiography) เป็นการตรวจหลอดเลือดของส่วนคอ และหลอดเลือดส่วนสมอง เพื่อการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของหลอดเลือดชนิดต่างๆ ว่าหลอดเลือดสมองมีการแตก อุดตัน โป่งพองหรือไม่ มากน้อยเพียงใดช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างชัดเจน และวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง


การเตรียมตัวก่อนตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี

ก่อนทำการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี ต้องมีการเตรียมตัวเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

  • งดอาหารอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง อาจต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
  • ในบางรายอาจมีการเจาะเลือดเพื่อตรวจดูการแข็งตัวของเลือด หรือดูค่าการทำงานของไต
  • หากมีประวัติแพ้สารทึบรังสี แพ้อาหารทะเล หรือแพ้ยา ต้องแจ้งแพทย์และพยาบาลก่อนล่วงหน้า
  • หากมีโรคประจำตัวหรือมียาที่รับประทานเป็นประจำ ต้องแจ้งแพทย์และพยาบาลทราบ
  • หากกำลังตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ

ขั้นตอนการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี

การตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี สามารถทำได้โดยการสอดใส่สายสวนหลอดเลือดแดงที่บริเวณขาหนีบ หรือข้อมือไปที่หลอดเลือดคอ แล้วจึงฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูการอุดตันของหลอดเลือดสมองโดยตรง โดยมีขั้นตอนดังนี้

  1. แพทย์จะทำความสะอาดบริเวณผิวหนังที่จะสอดสายสวนซึ่งมักจะเป็นบริเวณขาหนีบ หรือข้อมือ และฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณผิวหนัง
  2. เมื่อท่านรู้สึกชา แพทย์จะทำการสอดสายสวนเล็กๆ เข้าไปในหลอดเลือดแดง ผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อยเหมือนแทงเข็มน้ำเกลือทั่วไป
  3. เมื่อสอดสายเข้าไปในตำแหน่งที่ถูกต้องแล้ว แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีผ่านสายเข้าไปยังหลอดเลือดทีละเส้น เพื่อดูความผิดปกติหลอดเลือดแดง หลอดเลือดฝอย และหลอดเลือดดำตามลำดับ โดยผ่านหน้าจอเอกซเรย์และทำการบันทึกไว้
  4. ขณะฉีดสารทึบรังสีเข้าในหลอดเลือดสมองผู้ป่วยอาจมีอาการร้อนบริเวณใบหน้าบางครั้งเท่านั้น

การปฏิบัติตัวหลังการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยสารทึบรังสี

  1. หลังจากทำการตรวจเสร็จแล้ว ผู้ป่วยจะต้องกลับมาพักฟื้นที่ห้องผู้ป่วย เพื่อสังเกตอาการหลังการรักษา
  2. ผู้ป่วยไม่ควรลุกจากเตียงและไม่งอขา หรือข้อมือ ด้านที่แทงเส้นเลือด เป็นเวลาอย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง
  3. หากพบว่าบริเวณที่แทงเส้นเลือดบวมหรือขาข้างที่แทงเส้นเลือด ซีดหรือเย็นกว่าปกติควรแจ้งพยาบาลทราบ
  4. ถ้าผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ให้รับประทานอาหารได้ตามความเหมาะสม
  5. ถ้าปวดแผล สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ หรือปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
  6. ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารปกติ
  7. เมื่อกลับบ้าน ตรวจดูแผลที่ทำหัตถการหลังอาบน้ำทุกครั้งในช่วง 2-3 วันหลังทำว่าไม่มีแผลบวมแดงร้อน ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการฟักฟื้น อาจเกิดปฏิกิริยากับสารทึบรังสี
  8. ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ เช่น การติดเชื้อ เลือดออก แพ้สารทึบรังสี ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้พบได้น้อย เนื่องจากทำหัตถการโดยแพทย์ผู้ชำนาญการที่มีประสบการณ์ และมีการเตรียมตัวอย่างดีก่อนตรวจ อย่างไรก็ตามหากมีสัญญาณความผิดปกติอย่างหนึ่งอย่างใด เช่น อาการชาครึ่งซีก ปวดศีรษะรุนแรง หน้าเบี้ยว การทรงตัวไม่ดี แขนขาอ่อนแรง หรือมีอาการเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ควรรีบพบแพทย์ หรือไปโรงพยาบาลทันที





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย