รักษาอาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : พญ. รุ่งทิพย์ ชัยธีรกิจ

รักษาอาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS

อาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีก กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก ไม่ขยับตอบสนองตามที่ควรจะเป็นได้ คนทั่วไปอาจจะคิดว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือกลุ่มโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต แต่นั่นอาจเป็นอาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก หรือ Bell’s Palsy เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ ซึ่งเป็นความผิดปกติอยู่ที่ตัวเส้นประสาทเองไม่ได้อยู่ในเนื้อสมอง หรือภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ตันแต่อย่างใด ถ้ามีอาการควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทางระบบประสาทโดยละเอียด เนื่องจากการวินิจฉัยที่แม่นยำจะนำไปสู่การวางแผนการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม ในปัจจุบันการรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ให้ผลลัพธ์ในการฟื้นตัวที่รวดเร็ว


โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกเกิดได้อย่างไร

การเกิดหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy) หรือ ภาวะที่กล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรงหรือเกิดอัมพาตชั่วขณะนั้น อาจจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน อาจเกิดจากอุบัติเหตุ เนื้องอก หรือ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส เช่น งูสวัด (Herpes zoster) ที่แฝงอยู่ในปมประสาท หากร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ หรือ หญิงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า โดยจะเกิดขึ้นเฉพาะระยะสามเดือนสุดท้าย และหลังคลอดบุตร รวมไปถึงผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่เคยเกิดอุบัติเหตุ หรือได้รับการกระทบกระเทือนทางสมอง ก็สามารถเกิดโรคนี้ได้


อาการแบบไหนเป็นโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

อาการของโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy) มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และรุนแรงภายใน 24-48 ชั่วโมง โดยอาการมากหรือน้อยนั้นจะแตกต่างกันในแต่ละราย ส่วนใหญ่มักมีอาการมากขึ้นในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรกจนถึง 1-3 วันแรก แต่บางรายอาจมีอาการเป็นมากขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ถึง 14 วัน ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการ ดังนี้้

  • เริ่มจากมีอาการเตือน ปวดหลังหู ก่อนที่จะเริ่มมีปากเบี้ยว และหลับตาไม่ได้
  • กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก รู้สึกตึงหนักใบหน้าซีกนั้น ไม่ขยับตอบสนองตามที่ควรจะเป็นได้
  • เวลาบ้วนน้ำหรือน้ำลายจะไหลออกมาทางมุมปากข้างที่มีอาการ
  • ตาข้างนั้นจะปิดได้ไม่สนิท เคืองตา ยักคิ้วไม่ขึ้น
  • อาจรู้สึกมีเสียงก้องๆ ในหูข้างที่เป็น
  • อาจพบความผิดปกติของการรับรสของลิ้นส่วนหน้าซีกที่เป็นร่วมด้วย

การตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

ก่อนรักษาแพทย์จะตรวจเพื่อวินิจฉัยสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดหน้าเบี้ยวครึ่งซีก โดยแพทย์อาจตรวจร่างกาย เพื่อดูการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า เช่น หลับตา เลิกคิ้ว หรือฉีกยิ้ม รวมทั้งสอบถามอาการของผู้ป่วย เพื่อพิจารณาว่าอาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพอื่นหรือไม่ รวมทั้งอาจจะมีการตรวจพิเศษอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตรวจเลือด การตรวจกราฟไฟฟ้าของเส้นประสาท การตรวจน้ำไขสันหลัง การตรวจเอกซเรย์สมอง เป็นต้น

โดยการรักษาหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s Palsy) จะแตกต่างกันไปในระดับของความอ่อนแรงที่ผู้ป่วยเป็น ซึ่งวิธีการรักษาแต่เดิมจะใช้ยาเป็นหลัก โดยมีการใช้ทั้งยาในกลุ่มสเตียรอยด์ลดการอักเสบของเส้นประสาท และยาฆ่าเชื้อไวรัสร่วมกัน โดยปกติจะมีอาการดีขึ้นภายใน 3-4 สัปดาห์ และหายเป็นปกติภายใน 3-6 เดือน สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่ดีขึ้นและไม่สามารถฟื้นตัวหลังได้รับการรักษา จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติม โดยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS เป็นหนึ่งทางเลือกในการรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก ที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี


เทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า TMS รักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก

การรักษาโรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีกด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ TMS นั้นเป็นการใช้เครื่องส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไปยังเส้นประสาทคู่ที่ 7 โดยตรง เพื่อช่วยกระตุ้นให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น เร่งระยะเวลาการรักษา ใบหน้าอ่อนแรงฟื้นฟูได้เร็วขึ้น ถือเป็นการรักษาที่ไม่มีความเสี่ยง ไม่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่ออวัยวะโดยรอบ

โดยขั้นตอนในการรักษานั้น แพทย์จะใช้เครื่อง TMS ส่งคลื่นแม่เหล็กไปกระตุ้นบริเวณเส้นประสาทบนใบหน้า ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีกล้ามเนื้อกระตุก ขยับได้ ระยะเวลาในการรักษานั้นจะกระตุ้นอยู่ประมาณ 10-15 นาทีต่อครั้ง ซึ่งจะทำการรักษาต่อเนื่องประมาณ 5 ครั้งขึ้นไป ถึงจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นได้อย่างชัดเจน โดยเฉลี่ยแล้วจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ซึ่ง 1 สัปดาห์จะกระตุ้นประมาณ 1-2 ครั้ง ก็จะเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นได้ แต่การรักษานั้นก็จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละรายว่า มีระดับความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อมากน้อยแค่ไหน และเข้ารับการรักษาเร็วมากน้อยเพียงใด


การเตรียมตัวก่อนรักษาด้วย TMS

ก่อนการรักษาแพทย์จะแนะนำการรักษา ข้อบ่งชี้ และข้อห้ามในการใช้เครื่องมือดังกล่าว โดยผู้ป่วยไม่ต้องเตรียมตัวอะไรมาก เพียง

  • ห้ามอดนอน ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนทำการรักษาด้วย TMS ในวันรุ่งขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการดื่มคาเฟอีนก่อนทำ TMS
  • กรณีมียาที่ใช้เป็นประจำ โดยเฉพาะยาในกลุ่มยานอนหลับ ยาทางจิตเวช ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนทุกครั้ง

ข้อจำกัดในการรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (TMS)

  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคลมชักมาก่อน
  • ผู้ที่มีการฝังโลหะ ฝังอุปกรณ์ในหู หรือชิ้นส่วนของโลหะในสมอง
  • ผู้ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือเครื่องมือที่ฝังอยู่ในร่างกาย
  • โรคหน้าเบี้ยวครึ่งซีก เป็นโรคที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย ถ้าร่างกายยิ่งอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันยิ่งอ่อนแอก็ยิ่งมีโอกาสเป็นได้ง่ายขึ้น แต่ภาวะความผิดปกตินี้สามารถรักษาให้หายได้ การหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ สังเกตอาการหน้าเบี้ยวครึ่งซีกให้ดีก็เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง โดยหากพบเห็นอาการต้องสงสัย ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลา





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย