“ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” ภัยเงียบเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว | รพ.นครธน

ศูนย์ : ศูนย์หัวใจ

บทความโดย : พญ. พัชรี ภาวศุทธิกุล

“ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ”  ภัยเงียบเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว | รพ.นครธน

หลายๆ คนเคยมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดตาลาย ใจสั่น เจ็บหน้าอก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติ หรือมองข้ามไป เพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนของ “ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ” โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครียด อาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันได้


รู้จักภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia) คือ ภาวะที่คลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานผิดปกติหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ เร็วเกินไปหรือช้าเกินไปทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาจพบอาการที่สามารถสังเกตได้ เช่น ใจสั่น เจ็บหน้าอก หายใจหอบ เหงื่อออกมาก วิงเวียน หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม เป็นต้น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคหัวใจ หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และอาจส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันได้



หัวใจเต้นปกติ กับ หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นอย่างไร?

หัวใจปกติ จะเต้นอย่างสม่ำเสมอ ด้วยความเร็วที่เปลี่ยนไปตามกิจกรรมของร่างกาย โดยในขณะพักหัวใจจะเต้นประมาณ 60 -100 ครั้งต่อนาที ในขณะเดินหัวใจจะเต้นเร็วขึ้นประมาณ 100 - 120 ครั้งต่อนาที และมากกว่า 120 ครั้งต่อนาทีในขณะวิ่ง อย่างไรก็ตามนักกีฬาหรือผู้ที่ออกกำลังเป็นประจำ อาจมีชีพจรในขณะพักระหว่าง 50 - 60 ครั้งต่อนาที

หัวใจเต้นผิดปกติ คือ ภาวะใดที่เกิดความผิดปกติขึ้นในการนำไฟฟ้าของหัวใจโดยหัวใจอาจเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ และมีจังหวะสม่ำเสมอหรือไม่สม่ำเสมอก็ได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดและเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปสามารถแบ่งชนิดของหัวใจเต้นผิด ปกติเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ หัวใจเต้นช้าผิดปกติ และหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติทั้งอัตราการเต้น และจังหวะการเต้นของหัวใจก็ได้ เช่น เต้นๆ หยุดๆ และเต้นเร็ว ในบางรายอาจมีเต้นช้าสลับกับเต้นเร็วก็ได้


ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมีกี่ชนิด ?

หัวใจเต้นผิดปกติมีไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด แต่ละชนิดจะมีกลไกการเกิด สาเหตุการเกิด อาการ วิธีการรักษา รวมถึงการพยากรณ์โรคที่แตกต่างกันออกไป โดยทั่วไปสามารถแบ่งชนิดของหัวใจเต้นผิดปกติเป็นสองแบบใหญ่ๆ คือ

  • หัวใจเต้นช้าเกินไป (Bradyarrhythmia) คือ มีอัตราการเต้นของหัวใจช้าน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที
  • หัวใจเต้นเร็วเกินไป (Tachyarrhythmia) คือ มีอัตราการเต้นของหัวใจเต้นเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที

โดยแบ่งประเภทได้ดังต่อไปนี้

  • หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) หัวใจจะเต้นไม่เป็นจังหวะและเร็วผิดปกติ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดในสมอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้มาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน ผู้ที่มีโรคหัวใจ เป็นต้น
  • ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ (Supraventricular Tachycardia) อัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที
  • ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (Bradycardia) อัตราการเต้นของหัวใจช้ากว่า 60 ครั้งต่อนาที
  • Heart Block หัวใจจะเต้นช้าผิดปกติ และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
  • หัวใจจะเต้นเร็วผิดปกติและไม่เป็นจังหวะ (Ventricular Fibrillation) เป็นสาเหตุทำให้หมดสติและเสียชีวิตกะทันหัน หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันเวลา ซึ่งเป็นรูปแบบที่พบได้น้อย

อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจะมีอาการที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประเภท ความรุนแรง หรือความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ บางรายอาจไม่พบอาการหรือความผิดปกติใดๆ แต่บางรายอาจมีอาการที่สังเกตได้ เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ (มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที) หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ (น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที) เจ็บหน้าอก หายใจหอบ วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออกมาก หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม หมดสติ เป็นต้น

ผู้ที่มีอาการข้างต้นอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจเต้นผิดปกติเสมอไป แต่หากมีอาการเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุของอาการต่อไป


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีปัจจัยจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มชา กาแฟ ความเครียด ที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อาทิ ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ หรือแม้แต่ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ลิ้นหัวใจรั่ว ผนังหัวใจหนาผิดปกติ รวมทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ส่วนมากผู้ป่วยไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา


ตรวจวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การจะรู้ว่าเรามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่นั้น แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ประวัติทางการแพทย์ และการตรวจร่างกาย เพื่อตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจเบื้องต้น หรืออาจทดสอบเพื่อหาปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยแพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ดังนี้

  1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG)
  2. การตรวจและบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมงโดยใช้ Holter Monitor
  3. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST)
  4. การเอกซเรย์หน้าอก (Chest X-ray) เพื่อตรวจความผิดปกติของหัวใจ
  5. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)

การรักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ สามารถทำได้ดังนี้


  1. หลีกเลี่ยงและควบคุมปัจจัยที่ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยในบางรายที่อาการยังเป็นไม่มาก คือ ยังไม่ได้มีหัวใจเต้นผิดจังหวะจนทำให้เกิดอาการของหัวใจวาย หรือหัวใจขาดเลือด จะมีแค่ใจสั่นๆ เป็นบางเวลา แพทย์จะแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือชากาแฟ ควบคุมความเครียดและลดการกังวล
  2. การใช้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ในรายที่เป็นมากขึ้นอาจจะต้องใช้ยาเพื่อลดอันตราการเต้นของหัวใจร่วมด้วย เช่น ยาในกลุ่มเบต้าบล็อกเกอร์ (betablocker)
  3. การจี้ด้วยไฟฟ้าผ่านคลื่นเสียงความถี่สูง (Electro Physiologic Study and Radiofrequency Ablation) เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องใช้ยาสลบและไม่เจ็บตัวขณะที่ทำการรักษา จะกระทำได้โดยการสวนสายสวนหัวใจ จากบริเวณขาหนีบ หลังจากฉีดยาชาเฉพาะที่ ซึ่งแพทย์จะขยับสายสวนหัวใจดังกล่าวไปยังตำแหน่งต่างๆ ของหัวใจ เพื่อหาตำแหน่งของวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ อาจทำร่วมกับการกระตุ้นหัวใจช่วงสั้นๆ เมื่อพบตำแหน่งแล้ว จะส่งคลื่นเสียงความถี่สูงไปยังตำแหน่งดังกล่าวเป็นระยะเวลา 30 – 60 วินาที คลื่นเสียงความถี่สูงดังกล่าวจะทำให้เกิดความร้อนขึ้นที่ปลายสายสวนหัวใจ ทำให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นจาก 37 องศา เป็น 55 องศา ซึ่งเท่ากับอุณหภูมิของน้ำอุ่น
  4. การฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) ในกรณีที่มีการเต้นของหัวใจช้ากว่าปกติ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นลม หรือเหนื่อยง่าย
  5. การฝังเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติ (AICD : Automatic Implantable Cardioverter Defibrillator) ในรายที่หัวใจเต้นผิดจังหวะเร็วอย่างมาก เช่น Ventricular Tachycardia, Ventricular Fibrillation




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย