โรคเลือดออกในสมอง ภาวะที่อันตรายและร้ายแรง

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : นพ. กรภัค หวังธนภัทร

โรคเลือดออกในสมอง ภาวะที่อันตรายและร้ายแรง

หากมีอาการปวดศีรษะเฉียบพลันและรุนแรง อ่อนแรง พูดลำบาก วิงเวียน จนไม่สามารถยืนหรือนั่งหรือทรงตัวได้ ให้รีบมาพบแพทย์โดยด่วน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ความดันโลหิตสูง หรือเคยตรวจพบความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง หลอดเลือดโป่งพอง เพราะนั้นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคเลือดออกในสมอง ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายและร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้


โรคเลือดออกในสมอง เป็นอย่างไร?

โรคเลือดออกในสมอง จัดเป็นกลุ่มหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง เป็นภาวะที่หลอดเลือดในสมองแตกออก ทำให้เลือดไปสะสมและกดอัดเนื้อเยื่อสมองหรือเส้นประสาทสมอง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยพิการ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต หรือถึงแก่ชีวิตได้


สาเหตุของโรคเลือดออกในสมอง

สาเหตุหลักมาจากภาวะความเสื่อมของหลอดเลือดสมองจากอายุที่มากขึ้นร่วมกับโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทำให้เปราะและแตกได้ง่าย รวมทั้งสาเหตุต่างๆ ได้แก่

  • ภาวะหลอดเลือดโป่งพอง ผนังหลอดเลือดที่บวมและอ่อนแอลงจากภาวะนี้ สามารถแตกออกจนเกิดเลือดสะสมในสมอง
  • เกิดจากพยาธิสภาพที่ผิดปกติ เช่น ภาวะหลอดเลือดปานในสมอง (AVM)
  • เนื้องอกในสมองบางชนิด
  • โรคที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด จากการกินยาที่ช่วยไม่ให้เลือดแข็งตัว
  • มีการเปลี่ยนสภาพของภาวะสมองขาดเลือดและทำให้มีเลือดออก
  • ศีรษะได้รับบาดเจ็บ จากอุบัติเหตุต่างๆ และการถูกทำร้าย เป็นต้น

อาการบ่งบอกมีเลือดออกในสมอง

อาการของโรคเลือดออกในสมอง จะมีลักษณะสำคัญคือ เฉียบพลันและรุนแรง อาการเฉียบพลันที่สังเกตได้ ดังนี้

  • ปวดหัวรุนแรงเฉียบพลัน มักมีอาการร่วมคือ คลื่นไส้ อาเจียน ชัก หรือกระทั่งหมดสติ
  • แขนขาอ่อนแรง (ซึ่งมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง) ปากเบี้ยวเฉียบพลัน
  • มีอาการชาเฉียบพลัน
  • มองเห็นภาพซ้อน ตามัวมองไม่เห็นเฉียบพลัน
  • เสียการทรงตัว และบ้านหมุน วิงเวียนเฉียบพลัน


ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

การวินิจฉัยโรคเลือดออกในสมอง

การวินิจฉัยโรคเลือดออกในสมอง นอกจากการประเมินจากอาการที่พบ เช่น ปวดศีรษะรุนแรง อ่อนแรง หมดสติ ชัก แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูว่ามีความเสียหายใดๆ ในสมองที่สอดคล้องกับอาการที่เกิดขึ้นหรือไม่ ดังนี้

  1. การตรวจวินิจฉัยเพื่อระบุตำแหน่งและขนาดของบริเวณที่มีเลือดออก ได้แก่ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อถ่ายภาพโครงสร้างต่างๆ ในสมอง หรือ การตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  2. การตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อระบุสาเหตุของภาวะเลือดออกในสมอง ได้แก่ การตรวจ MRA Brain เพื่อดูสภาพเส้นเลือดสมอง การฉีดสีเส้นเลือดสมอง (Cerebral Angiography) การตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติของเกล็ดเลือด การแข็งตัวของเลือด ระบบภูมิคุ้มกัน การอักเสบ และการเกิดลิ่มเลือดที่อาจเป็นปัจจัยของภาวะดังกล่าว รวมถึงบางกรณีที่อาจมีการเจาะน้ำไขสันหลังเพื่อยืนยันภาวะเลือดออกในสมอง

แนวทางการรักษาเลือดออกในสมอง

การรักษาโรคเลือดออกในสมองขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่มีเลือดออก สาเหตุ และปริมาณของเลือดที่ออกมา ดังนี้

  1. รักษาโดยการใช้ยา ผู้ป่วยที่มีเลือดออกจุดเล็กๆ และไม่มีอาการใดๆ อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด สามารถทำการรักษาโดยการให้ยาควบคุมความดันโลหิต และยาลดอาการสมองบวม เพื่อช่วยลดความเสียหายของสมองจากภาวะเลือดออก และคอยเฝ้าระวังอาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งการตรวจติดตามด้วย CT Scan สมอง อย่างต่อเนื่อง
  2. ผู้ป่วยที่มีเลือดออกในสมองเนื่องจากรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน อาจต้องรับการรักษาเพื่อทำให้ผลจากยาหายไป ไม่ให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกมากขึ้น ด้วยการใช้วิตามินเค หรือให้พลาสมาสดแช่แข็ง เป็นต้น
  3. การผ่าตัด จะกระทำก็ต่อเมื่อมีภาวะเลือดออกในสมองที่มีขนาดใหญ่หรือมีอาการรุนแรง ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้การผ่าตัดชนิดใดต่อไปนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะเลือดออกในสมองนั้นๆ ได้แก่
    • การผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เพื่อผ่าตัดเอาก้อนเลือดในสมองออก
    • การผ่าตัดใส่สายระบายเลือดและน้ำจากโพรงสมอง
    • วิธีการเจาะดูดก้อนเลือดในสมองด้วยเทคนิคนำวิถี โดยใช้อุปกรณ์พิเศษช่วย ซึ่งวิธีนี้ช่วยให้บาดแผลของผู้ป่วยมีขนาดเล็ก และทำให้มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่า
    • ภาวะเลือดออกจากหลอดเลือดโป่งพอง โดยการผ่าตัดใช้คลิปหนีบที่บริเวณเส้นเลือดโป่งพอง (clipping) และการรักษาด้วยการอุดภายในหลอดเลือดด้วยขดลวดผ่านการใส่สายสวนหลอดเลือดแดงที่ขาหนีบ (coiling)

การป้องกันโรคเลือดออกในสมอง

การป้องกันเลือดออกในสมองจะต้องแก้เรื่องปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นสาเหตุของการเกิดเลือดออกในสมอง เช่น

  1. รักษาความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
  2. ไม่สูบบุหรี่ และดื่มสุรา
  3. ไม่ใช้ยาเสพติด ยาเสพติดเป็นอีกปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกในสมองได้
  4. ป้องกันอันตรายจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ
  5. รับการรักษาภาวะผิดปกติที่อาจนำไปสู่ภาวะเลือดออกในสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง
  6. ระมัดระวังในการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด โดยผู้ใช้ยาควรตรวจระดับเลือดเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่ายังอยู่ในขั้นปลอดภัย และหากมีการใช้ยาชนิดอื่นร่วมด้วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอ
โรคเลือดออกในสมอง เมื่อทำการรักษาแล้วผู้ป่วยจำเป็นจะต้องทำกายภาพบำบัดในการฟื้นฟูสภาพร่างกายให้กลับมาแข็งแรงดังปกติ โรคนี้นับเป็นภัยเงียบที่ก่อให้เกิดอันตราย การลดพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งการตรวจสุขภาพเป็นประจำ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออกในสมองได้




ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย