เนื้องอกสมอง (Brain Tumor)

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย :

เนื้องอกสมอง (Brain Tumor)

เนื้องอกสมองคือ เนื้องอกที่เกิดขึ้นจากเนื้อสมอง รวมถึงเนื้องอกของเส้นประสาทสมอง เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง เนื้องอกของต่อมใต้สมอง เนื้องอกของบริเวณฐานกะโหลกที่ลุกลามเข้าไปที่สมองและมะเร็งของอวัยวะอื่นที่แพร่กระจายมาที่สมอง ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่มีเนื้องอกสมองส่วนน้อยบางส่วนที่ทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นจากอะไร เช่น ปัจจัยทางกรรมพันธุ์ เคยได้รับการฉายแสงบริเวณศีรษะ หรือเคยได้รับฮอร์โมนเพศ เป็นต้น

ชนิดของเนื้องอกสมองแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ

  1. เนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดา (Benign Brain Tumors) เป็นเนื้องอกไม่อันตราย มีการเจริญเติบโตช้า ไม่ใช่เซลล์มะเร็ง สามารถรักษาให้หายได้ และมีโอกาสน้อยที่ผู้ป่วยจะกลับมาเป็นอีกหลังการรักษา
  2. เนื้อเยื่อที่เป็นเนื้อร้าย (Malignant Brain Tumors) เป็นเนื้องอกอันตราย มีการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติ คือ เซลล์มะเร็ง อาจเกิดขึ้นบริเวณสมอง หรือเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นที่อวัยวะอื่นแล้วลามเข้าสู่สมอง ซึ่งจะมีการเจริญเติบโตเรื่อย ๆ อย่างไม่สามารถควบคุมได้ และมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นได้อีกแม้เคยผ่านการรักษาไปแล้ว โดยทั่วไป เนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็งจะพบได้บ่อยกว่าเนื้องอกที่เป็นเนื้อธรรมดา

นอกจากนี้ เนื้องอกในสมองมักมีชื่อเรียกแยกตามชนิดของเซลล์ที่เป็นเนื้องอก เช่น เนื้องอกไกลโอมา (Gliomas) เนื้องอกเยื่อหุ้มสมอง (Meningiomas) เนื้องอกเส้นประสาทหู (Acoustic Neuromas) เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง (Pituitary Adenomas และ Craniopharyngiomas) เนื้องอกนิวโรเอ็กโตเดิร์ม (PNETs - Primitive Neuroectodermal Tumors) เนื้องอกเจิร์มเซลล์ (Germ Cell Tumors) และเนื้องอกสมองในเด็ก (Medulloblastomas) ที่ส่วนใหญ่เป็นเนื้อร้ายเกิดบริเวณสมองส่วนหลังแล้วแพร่กระจายผ่านทางน้ำหล่อเลี้ยงไขสันหลัง มักพบมากในเด็ก แต่ก็สามารถเกิดในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน


การตรวจวินิจฉัย

การตรวจวินิจฉัยโรคเนื้องอกสมองนั้นจำเป็นต้องทำการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Brain) หรือเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Brain) จึงจะได้การวินิจฉัยที่ชัดเจน การตรวจวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการตรวจที่มีค่าใช้จ่ายสูงและไม่ได้อยู่ในโปรแกรมการตรวจเช็คสุขภาพโดยทั่วไป ต้องพบแพทย์เพื่อจะพิจารณาว่าผู้ป่วยที่มาตรวจมีความเสี่ยงที่จะเป็นเนื้องอกสมองหรือไม่และจำเป็นต้องตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์ดังกล่าวหรือไม่


การรักษาเนื้องอกสมอง

การรักษาเนื้องอกสมองมีอยู่ 3 วิธีหลักๆ คือ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยา ในบางครั้งอาจจะต้องใช้หลายๆ วิธีร่วมกันเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด

การผ่าตัด

เป็นวิธีหลักของการรักษาเนื้องอกสมองส่วนใหญ่ หากอยู่ในตำแหน่งที่มีความเสี่ยงสูง ที่อาจจะกระทบกระเทือนตำแหน่งใกล้เคียง อาจจะเป็นเพียงการเจาะดูดเอาเนื้องอกมาตรวจวินิจฉัย ผ่าตัดเนื้องอกออกบางส่วน ถ้าอยู่ในตำแหน่งที่สามารถทำผ่าตัดออกได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย แพทย์มักจะพิจารณาผ่าตัดเนื้องอกนั้นจนหมดหรือออกให้ได้มากที่สุด เนื่องจากสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีความละเอียดอ่อนมาก จึงต้องอาศัยอุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย ซึ่งในปัจจุบันได้มีการทำผ่าตัดโดยวิธีจุลศัลยกรรมประสาท (Microneurosurgery) ทำให้สามารถมองเห็นจุดเล็กๆในสมองส่วนที่อยู่ลึกได้ มีการนำเครื่องนำวิถี (Navigation) มาใช้เพื่อช่วยให้การผ่าตัดสมองมีความแม่นยำมากขึ้น มีการทำผ่าตัดร่วมกับการใช้เครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในห้องผ่าตัด (Intraoperative MRI) เพื่อช่วยให้ผ่าตัดเนื้องอกออกได้มากขึ้น หรือมีการทำผ่าตัดด้วยการส่องกล้อง (Neuroendoscopic surgery) เพื่อช่วยให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ในบางครั้งเนื้องอกสมองอาจอยู่ในตำแหน่งที่เป็นอันตรายต่อการผ่าตัด และอาจมีการทำผ่าตัดโดยที่ผู้ป่วยยังคงรู้ตัวไม่สลบระหว่างผ่าตัด เพื่อที่แพทย์จะสามารถหาตรวจหาตำแหน่งการทำงานของสมองไปได้ด้วยระหว่างการผ่าตัด (Awake craniotomy and brain mapping)


ฉายรังสี

ฉายรังสี (Radiation Therapy) แพทย์จะใช้รังสีพลังงานสูงฆ่าทำลายเนื้องอกในสมองที่เป็นเซลล์มะเร็ง สามารถทำได้ทั้งวิธีการฉายรังสีจากภายนอก และการฝังรังสี (Brachytherapy) เข้าไปบริเวณที่ใกล้กับเนื้องอกในสมอง


การให้ยาเคมี

การให้ยาเคมี (Chemotherapy) เป็นการใช้ยารักษาและฆ่าเซลล์เนื้องอก มีทั้งรูปแบบยารับประทานและยาฉีดเข้าเส้นเลือด โดยแพทย์จะจ่ายยาตามความเหมาะสม อาจใช้ยาร่วมกันหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับอาการ ลักษณะและความรุนแรงของเนื้องอก หากเป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์มะเร็งที่อวัยวะส่วนอื่น ต้องได้รับยารักษาตามแต่ชนิดของมะเร็งเป็นกรณีไป



ปรึกษาแพทย์ออนไลน์

โรคเนื้องอกสมองที่พบได้บ่อย

1. เนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง (Meningioma)

คือความผิดปกติของเยื่อหุ้มสมอง Meninges ที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ได้กลายเป็นเนื้องอกขึ้นมา มักพบเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองในช่วงวัยผู้ใหญ่และพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่เนื้องอกชนิดนี้เกิดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุแต่ในบางคนอาจเกิดขึ้นมาเนื่องจากโรคทางกรรมพันธุ์ หรือบางคนเกิดขึ้นเนื่องจากเคยได้รับการฉายแสงที่ศีรษะเป็นต้น ในบางคนสามารถพบเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมองได้มากกว่าหนึ่งก้อน

อาการที่แสดงออกมาขึ้นอยู่กับว่าก้อนเนื้องอกนั้นไปมีผลรบกวนต่อสมองส่วนใด เช่น อาจจะมีอาการชัก อาการปวดหัวอาเจียน อาการตามัว เดินเซ เห็นภาพซ้อน ใบหน้าชา หูหนวก แขนขาไม่มีกำลัง หรืออื่นๆ


การรักษาเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง

วิธีมาตรฐานที่ดีที่สุดในการรักษาเนื้องอกของเยื่อหุ้มสมอง คือการผ่าตัดเอาออกให้หมด ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจจะไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกเยื่อหุ้มสมองออกได้หมดเสมอไปทุกครั้ง เนื่องจากบางครั้งเนื้องอกอาจจะเติบโตหุ้มรอบเส้นเลือดสมอง หรือเส้นประสาทที่สำคัญ ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการถ้าผ่าตัดออกหมด ในกรณีที่ผ่าตัดออกได้ไม่หมด แพทย์อาจจะแนะนำให้รักษาเนื้องอกส่วนที่เหลือโดยการฉายรังสี ซึ่งจะช่วยป้องกันหรือชะลอไม่ให้ก้อนเนื้องอกเติบโตขึ้นมาใหม่

ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีการผ่าตัดสมองด้วยวิธีจุลศัลยกรรม เป็นการผ่าตัดแบบมีผลต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงน้อย (minimally invasive neurosurgery) โดยการใช้กล้องผ่าตัดที่มีกำลังขยายสูง (microscope) ให้ภาพที่มีความละเอียดสูงแบบ 3 มิติ ช่วยขยายให้แพทย์สามารถมองเห็นส่วนต่างๆ ได้ชัดเจน โดยเฉพาะความผิดปกติที่อยู่ในสมองส่วนที่อยู่ลึก ทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ ปลอดภัย และได้ผลการรักษาดีกว่าการผ่าตัดโดยอาศัยตาเปล่า


เนื้องอกของต่อมใต้สมอง (Pituitary adenoma)

ต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) เป็นส่วนเล็กๆ ของสมองที่อยู่บริเวณฐานกะโหลกศีรษะเหนือต่อโพรงจมูก มีหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนชนิดต่างๆ เช่น ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (growth hormone) ฮอร์โมนเพศ (FSH, LH) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมน้ำนม (Prolactin) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมหมวกไต (ACTH) ฮอร์โมนกระตุ้นต่อมไทรอยด์ (TSH) เป็นต้น ต่อมใต้สมองนี้อาจจะมีความผิดปกติกลายเป็นเนื้องอก โดยมักจะพบเนื้องอกชนิดนี้ได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่


อาการของเนื้องอกของต่อมใต้สมอง

เนื้องอกของต่อมใต้สมองอาจมีอาการแสดงออกได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับว่าเนื้องอกนั้นผลิตฮอร์โมนชนิดใด ถ้าเนื้องอกนั้นผลิตฮอร์โมนกระตุ้นต่อมน้ำนม (Prolactinoma) ในผู้หญิงจะมีอาการขาดประจำเดือน อาจมีน้ำนมไหลทั้งๆที่ไม่ได้ให้นมบุตร ส่วนผู้ชายจะมีสมรรถภาพทางเพศลดลง ถ้าเนื้องอกนั้นผลิตฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต คนไข้ที่เป็นวัยรุ่นจะมีร่างกายสูงมากผิดปกติ (Giantism) ส่วนคนไข้ที่เป็นผู้ใหญ่จะมีร่างกายใหญ่โตผิดปกติ (Acromegaly) คือมีมือเท้าใหญ่ รูปร่างใบหน้าผิดปกติ หน้าผากยื่น กรามใหญ่ อาจมีความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานร่วมด้วย ถ้าเนื้องอกนั้นผลิตฮอร์โมนกระตุ้นต่อมหมวกไต (Cushing’s disease) คนไข้จะมีลักษณะใบหน้าและลำตัวอ้วนกลม มีสิวขึ้น ผิวหนังบางมีรอยแตก กระดูกบาง ภูมิต้านทางโรคลดลง (Cushing’s syndrome) ถ้าเนื้องอกนั้นไม่ผลิตฮอร์โมนใดๆ เลยก็จะไม่มีอาการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น แต่จะมาด้วยอาการของการขาดฮอร์โมนของต่อมใต้สมอง เนื่องจากก้อนเนื้องอกจะไปทำลายต่อมใต้สมอง ทำให้ต่อมใต้สมองไม่สามารถผลิตฮอร์โมนได้ (Hypopituitarism) คนไข้จะมีอาการอ่อนเพลียง่ายผิดปกติ อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หน้ามืดเป็นลม ง่วงซึม ทนอากาศหนาวไม่ได้ ขาดประจำเดือนหรือสมรรถภาพทางเพศลดลง บางครั้งผู้ป่วยอาจจะมีเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติทำให้ซึมลงหรือชัก เมื่อเนื้องอกต่อมใต้สมองมีขนาดโตขึ้น เนื้องอกจะไปกดเบียดเส้นประสาทตาที่อยู่ใกล้เคียงกับต่อมใต้สมอง ทำให้ผู้ป่วยมีตามัวลง มีลานสายตาแคบผิดปกติ โดยมองทางด้านข้างทั้งสองข้างไม่เห็น ผู้ป่วยบางรายมาพบแพทย์เนื่องจากมีเลือดออกในก้อนเนื้องอก (Pituitary apoplexy) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวและตามัวลงฉับพลัน อาจมีหนังตาตก หรือระดับความรู้สึกตัวลดน้อยลง


การรักษาเนื้องอกของต่อมใต้สมอง

มีการรักษาอยู่ 3 แบบ ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของเนื้องอกคือ การผ่าตัด การให้ยาต้านฮอร์โมนและ การฉายรังสี

การผ่าตัดนั้นเป็นวิธีหลักของการรักษาของเนื้องอกต่อมใต้สมองเกือบทุกชนิด ในปัจจุบันการผ่าตัดมักทำผ่านทางโพรงจมูก โดยอาจใช้กล้องจุลทรรศน์ (Microscope) หรือใช้วิธีส่องกล้อง (Endoscope) ถ้าเนื้องอกนั้นไม่ลุกลามใหญ่โตจนเกินไปนัก ก็มักจะสามารถผ่าตัดออกได้หมดเป็นส่วนใหญ่

การให้ยาต้านฮอร์โมน เป็นทางเลือกในการรักษาเนื้องอกของต่อมใต้สมองบางอย่าง โดยเฉพาะเนื้องอกต่อมใต้สมองชนิดที่สร้างฮอร์โมนกระตุ้นต่อมน้ำนม (Prolactinoma) ซึ่งผู้ป่วยอาจจะสามารถกินยาต้านฮอร์โมน (Bromocriptine) แทนการผ่าตัดได้


2. มะเร็งสมองที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น (Metastatic tumors)

มะเร็งของอวัยวะต่างๆ สามารถแพร่กระจายไปที่สมองได้ มะเร็งที่พบบ่อย เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไล้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก ล้วนสามารถกระจายตามกระแสเลือดไปที่สมองได้ทั้งสิ้น ส่วนใหญ่มักจะพบเป็นก้อนแพร่กระจายในสมองมากกว่าหนึ่งตำแหน่ง


อาการของมะเร็งสมองที่แพร่กระจายมาจากอวัยวะอื่น

ผู้ป่วยมักจะมีประวัติว่าเป็นมะเร็งที่ใดที่หนึ่งมาก่อน เนื่องจากมะเร็งที่กระจายมาที่สมองเจริญเติบโตเร็ว ผู้ป่วยจะแสดงอาการผิดปกติในช่วงเวลาไม่นานนัก เช่น หลายวันหรือหลายสัปดาห์ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหัว ชัก แขนขาไม่มีแรง แขนขาชา การสื่อสารผิดปกติ หรือเดินเซ เป็นต้น ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีอาการจากมะเร็งที่แพร่กระจายมาสมองโดยที่ไม่เคยรู้ว่าเป็นมะเร็งที่ใดมาก่อน


การรักษาผู้ป่วยมะเร็งแพร่กระจายไปยังสมอง

  1. การฉายรังสีบริเวณสมอง โดยแพทย์จะฉายรังสีบริเวณสมองเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง เมื่อก้อนมะเร็งที่สมองยุบลงจะทำให้อาการดีขึ้น
  2. การผ่าตัด ใช้ในกรณีที่มีก้อนในสมองจำนวนไม่เกิน 5 ก้อน และมีอาการจากก้อนที่มีขนาดใหญ่ หรือมีก้อนมะเร็งเพียงก้อนเดียว
  3. ยาภูมิคุ้มกันบำบัด สามารถผ่านเข้าไปในเนื้อสมองได้ (ผ่าน Blood Brain Barrier) ใช้ในการรักษาและช่วยป้องกันมะเร็งแพร่กระจายไปที่สมองได้ นิยมใช้รักษาในกรณีที่มะเร็งปอด หรือมะเร็งเต้านมมีการแพร่กระจายไปยังสมองจุดเล็กๆ
  4. ยาเคมีบำบัด ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าไปในเนื้อสมองได้ เนื่องจากมีแผ่นกั้นที่เรียกว่า Blood Brain Barrier ดังนั้น การใช้ยาเคมีบำบัดจำเป็นต้องฉีดยาเข้าไปในไขสันหลังของผู้ป่วย มักจะใช้ในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจายอยู่ในเยื่อหุ้มสมองและน้ำไขสันหลัง

จะเห็นว่า เนื้องอกสมองนั้นสามารถรักษาได้ แต่ผลของการรักษานั้นมีความแตกต่างกันไป แล้วแต่ชนิด ตำแหน่ง และขนาดของเนื้องอก ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ผู้ป่วยต้องทราบหลังได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเนื้องอกที่สมอง คือ เป็นเนื้องอกประเภทดีหรือไม่ เกิดจากอะไร จากนั้นแพทย์จะพิจารณาใช้วิธีการรักษาให้อย่างเหมาะสม และสำคัญที่สุดผู้ป่วยจะต้องดูแลสุขภาพจิตใจให้เข้มแข็ง เข้าใจ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยให้การรักษาได้ผลดีมากยิ่งขึ้น



ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย