โรคพาร์กินสัน อาการสั่นที่อันตราย จากความเสื่อมของระบบประสาท

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

โรคพาร์กินสัน อาการสั่นที่อันตราย จากความเสื่อมของระบบประสาท

หากพบว่าคนในครอบครัว หรือ ผู้สูงอายุ แขนและมือมีอาการสั่นข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจ 2 ข้าง ซึ่งมักสั่นในท่าพักไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร เคลื่อนไหวช้า เดินเซ อาจเสี่ยงเป็น “โรคพาร์กินสัน” โรคที่เกิดจากความเสื่อมอย่างช้าๆ ของระบบประสาทและสมอง แม้โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การนำผู้ป่วยมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะการรักษาที่ทันสมัยสามารถช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและช่วยเหลือตัวเองได้นานขึ้น


ทำความรู้จัก...โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease; PD) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง โดยเฉพาะส่วนที่ผลิตสารควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัว หรือที่เรียกว่า สารโดพามีน (Dopamine) เมื่อเซลล์สมองเสื่อมสภาพหรือถูกทำลายไป การสร้างสารโดพามีนจึงลดลง จึงส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการเคลื่อนไหว ทำให้เกิดอาการสั่น เคลื่อนไหวช้า แข็งเกร็ง การเดินและการทรงตัวลำบาก โรคพาร์กินสัน มักพบในผู้ป่วยสูงอายุ ส่วนมากจะพบตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป โดยพบในผู้ป่วยหญิงมากกว่าผู้ป่วยชายเพียงเล็กน้อย ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคพาร์กินสัน จะมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าคนอื่น เพราะสามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมได้


อาการแสดงของโรคพาร์กินสัน

ในผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแสดงของโรคพาร์กินสัน ออกมากน้อยแตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ ด้าน เช่น อายุ ระยะเวลาการเป็นโรค และภาวะแทรกซ้อน โดยอาการที่แสดงออกมีดังนี้

  • อาการสั่นที่แขนและมือ โดยมักมีอาการข้างใดข้างหนึ่งนำมาก่อน โดยต่อมาอาจมีการสั่นเกิดขึ้นทั้ง 2 ข้างได้ แต่มักมีความรุนแรงของการสั่นไม่เท่ากัน อาการสั่นมักจะเป็นในช่วงที่อยู่ในท่าพักไม่มีกิจกรรมใดๆ
  • อาการเคลื่อนไหวช้า เช่น การเดิน การแต่งตัว การทำกิจวัตรต่างๆ จะช้าลงอย่างชัดเจน ไม่กระฉับกระเฉงว่องไวเหมือนเดิม
  • อาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง มักเกิดอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะแขน ขา ลำตัว
  • อาการทรงตัวผิดปกติ เดินเซ ล้มได้ง่าย
  • อาการทางจิตประสาท เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล โมโหร้าย
  • อาการความจำระยะสั้นไม่ค่อยดีในระยะต้น ความจำเสื่อมในระยะท้าย
  • อาการท้องอืด ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย ควบคุมการปัสสาวะไม่ได้
  • อาการการรับรส และรับรู้กลิ่นไม่ดี
  • อาการมึนศีรษะเวลาลุกขึ้นเนื่องจากความดันโลหิตต่ำลง
  • อาการพูดเสียงเบา ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการพูดไม่ชัด พูดเสียงเบา หรือเสียงอาจหายไปในลำคอ บางรายอาจมีอาการพูดรัวเร็ว ระดับเสียงในการพูดอยู่ในระดับเดียวกันตลอด และอาจมีน้ำลายสอออกมาคลออยู่ที่มุมปาก

ระยะอาการของโรคพาร์กินสัน

  • ระดับที่ 1: จะมีอาการเริ่มต้น คือ เกิดอาการสั่นเพียงเล็กน้อยในการเดิน ยืน การแสดงออกทางสีหน้า ซึ่งยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ปกติ
  • ระดับที่ 2: อาการจะเริ่มลุกลามไปที่อวัยวะอีกข้างหนึ่ง จนเกิดอาการสั่นทั้งสองข้าง แข็งเกร็ง การยืน เดิน ผิดปกติและมีลำตัวคดงอเล็กน้อย การดำเนินชีวิตประจำวันยังปกติแต่บางอย่างอาจทำได้ยากขึ้น
  • ระดับที่ 3: เกิดอาการสั่นทั้งสองข้าง มีอาการทรงตัวผิดปกติ อาจหกล้มได้ง่าย
  • ระดับที่ 4: ผู้ป่วยจะช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง โดยอาการสั่นจะน้อยลง แต่จะมีอาการแข็งเกร็ง และเคลื่อนไหวช้ามากขึ้นกว่าเดิม จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด
  • ระดับที่ 5: ผู้ป่วยจะมีกล้ามเนื้อแข็งเกร็งมากขึ้นจนไม่สามารถเคลื่อนไหวไม่ได้เลย กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีศีรษะก้มมาจรดคอ มือเท้าหงิกงอ เสียงพูดแผ่วเบา ไม่มีการแสดงความรู้สึกทางสีหน้า ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีอาการประสาทหลอนเกิดขึ้นด้วย

การวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสัน

การวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคพาร์กินสัน จะอาศัยการซักถามประวัติและการตรวจร่างกายเป็นหลัก โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการถ่ายภาพเอกซเรย์สมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะใช้ในการแยกโรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายโรคพาร์กินสันออกไป

ในปัจจุบันมีการตรวจการทำงานของสมองด้วยการใช้เทคโนโลยี PET Scan มาช่วยยืนยันโรคพาร์กินสันได้อีกวิธีหนึ่ง โดยการฉีดสารโดพามีนให้จับกับรังสี หรือเอฟโดป้า (F-DOPA) เพื่อดูว่ามีสารดังกล่าวอยู่ในปริมาณมากน้อยแค่ไหน เข้าข่ายเป็นโรคพาร์กินสันหรือไม่ หรือเป็นพาร์กินสันในระยะใด เพื่อเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษาได้ถูกต้อง


การรักษาโรคพาร์กินสัน

แม้โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การนำผู้ป่วยมาพบแพทย์แต่เนิ่นๆ จะช่วยให้การรักษาสามารถควบคุมอาการ และไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น โดยการรักษาโรคพาร์กินสันมีหลายวิธี แพทย์จะพิจารณาการรักษาตามความเหมาะสมให้กับผู้ป่วยแต่ละรายดังนี้

  • การรักษาด้วยยา เป็นการรักษาตามอาการ ซึ่งในระยะเริ่มต้นและระยะกลางของโรคยังเป็นการรักษาด้วยการใช้ยาเป็นหลัก เนื่องจากโรคพาร์กินสันเป็นโรคที่มีความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองหลายระบบได้แก่ โดพามีน โคลีน อะดรีนาลีน ซีโรโทนิน และอื่น ๆ ดังนั้นยาที่ใช้ในปัจจุบันจะออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทต่างๆ เหล่านี้
  • การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) เป็นวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อไปกระตุ้นสมอง ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน ที่เคยได้รับการรักษาด้วยยา แต่มีอาการมากขึ้นจนการรักษาด้วยยาไม่ให้ผลดีเท่าที่ควร
ทั้งนี้โรคพาร์กินสันเป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทและสมองที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแย่ลงอย่างช้าๆ การวินิจฉัยโรคแต่เนิ่นๆ และได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นระยะเวลายาวนานขึ้น หากพบว่ามีอาการที่ผิดปกติข้างต้นร่วมกันหลายประการ ควรรีบปรึกษาแพทย์





ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย




Share :

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย