เทคนิคทางเลือกของการรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน

ศูนย์ : ศูนย์สมองและระบบประสาท

บทความโดย : นพ. ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

เทคนิคทางเลือกของการรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน

โรคเส้นเลือดสมอง (stroke) หรือเรียกว่าโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยงหรือมีภาวะเลือดออกในสมองส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย ส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น โดยโรคเส้นเลือดในสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) เกิดจากเส้นเลือดในสมองตีบ ตัน จนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดร่วมกับภาวะเส้นเลือดแดงแข็ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากไขมันที่เกาะตามผนังเส้นเลือดจนทำให้เกิดเส้นเลือดตีบแข็ง ในปัจจุบันโรคเส้นเลือดในสมองขาดเลือดสามารถให้การรักษาได้โดยความรวดเร็วในการรักษาถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด


โรคเส้นเลือดในสมองชนิดสมองขาดเลือดเป็นอย่างไร

โรคเส้นเลือดในสมองชนิดสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) เป็นชนิดของเส้นเลือดในสมองที่พบได้กว่า 80% ของโรคเส้นเลือดในสมองทั้งหมด เกิดจากอุดตันของเส้นเลือดจนทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไปเพียงพอ ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดร่วมกับภาวะเส้นเลือดแดงแข็ง ซึ่งมีสาเหตุมาจากไขมันที่เกาะตามผนังเส้นเลือดจนทำให้เกิดเส้นเลือดตีบแข็ง โดยโรคเส้นเลือดในสมองชนิดนี้ยังแบ่งออกได้อีก 2 ชนิดย่อย ได้แก่

  1. โรคสมองขาดเลือดจากเส้นเลือดในสมองตีบ (Thrombotic Stroke) เป็นผลมาจากเส้นเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ที่เกิดจากลิ่มเลือดก่อตัวขึ้นจากผนังเส้นเลือดในสมองที่มีคราบไขมันเกาะจนแข็ง ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบแคบลงจนอุดตัน ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปยังสมองได้ ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวที่เกิดในช่วงสั้น ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจเกิดอาการของโรคเส้นเลือดในสมองตามมา
  2. โรคสมองขาดเลือดจากเส้นเลือดในสมองอุดตัน (Embolic Stroke) เกิดจากลิ่มเลือดที่ก่อตัวในเส้นเลือดนอกสมอง เช่น ที่หัวใจ ลอยตามกระแสเลือดไปอุดตันที่เส้นเลือดเล็ก ๆ ในสมอง จนทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปที่สมองได้อย่างเพียงพอ มักเกิดในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ได้แก่ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคของลิ้นหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือภาวะหัวใจโต

สัญญาณเตือนของเส้นเลือดในสมองขาดเลือด

  • มีอาการแขนขาอ่อนแรง ซีกใดซีกหนึ่ง
  • มีอาการปากเบี้ยว พูดไม่ชัด
  • มีอาการตามัว หรือ ตามองไม่เห็นข้างใดข้างหนึ่ง หรือเห็นภาพซ้อนทับทันทีทันใด
  • มีอาการเวียนศีรษะอย่างรุนแรง เดินเซ เสียการทรงตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ข้างต้น

เทคนิคการรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน

การรักษาโรคเส้นเลือดในสมองชนิดขาดเลือดจะแตกต่างกันไปตามอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย และวางแผนวิธีรักษาที่เหมาะสม โดยแนวทางการรักษามีดังนี้

1. แพทย์วินิจฉัยว่าเส้นเลือดในสมองตีบ

1.1 การรักษาเส้นเลือดในสมองตีบด้วยยา ในกรณีผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ และพบภาวะสมองขาดเลือดจากเส้นเลือดในสมองตีบและไม่พบภาวะเลือดออกในสมอง แพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด (rtPA) ทางเส้นเลือดดำ ซึ่งจะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้ทัน นอกจากนี้แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านเกล็ดเลือดซึ่งเป็นยาที่ช่วยป้องกันการก่อตัวของเกล็ดเลือด ทำให้การอุดตันลดลง หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดในผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติเพื่อป้องกันการเกิดการกลับเป็นซ้ำในระยะยาวเพิ่มเติม


2. แพทย์วินิจฉัยว่าเส้นเลือดในสมองอุดตัน

2.1 การรักษาเส้นเลือดในสมองอุดตันด้วยยา จะเป็นการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (rtPA) ทางเส้นเลือดดำ เช่นเดียวกันกับการรักษาเส้นเลือดในสมองตีบ ในกรณีผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในเวลา 4.5 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ และพบภาวะสมองขาดเลือดจากเส้นเลือดในสมองอุดตันและไม่พบภาวะเลือดออกในสมอง


2.2 การรักษาเส้นเลือดในสมองอุดตันด้วยการลากลิ่มเลือด ในกรณีที่ผู้ป่วยมาโรงพยาบาลมาหลัง 4.5 ชั่วโมง แต่ไม่เกิน 8 ชั่วโมงนับตั้งแต่เกิดอาการผิดปกติ และพบว่าเส้นเลือดในสมองขนาดใหญ่อุดตัน ทางเลือกของการรักษา คือ การใส่สายสวนลากลิ่มเลือด (Clot Retrieval) โดยการใส่สายสวนเข้าทางเส้นเลือดแดงใหญ่พร้อมขดลวดที่ขาหนีบไปจนถึงจุดที่เกิดการอุดตัน แล้วดึงเอาลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากเส้นเลือดในสมองเพื่อเปิดรูของเส้นเลือดให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมองได้

ทั้งนี้ หากคุณมีความเสี่ยง หรือพบว่าคนในครอบครัวเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบตัน ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี รวมทั้งการตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง หรือ ตรวจเช็คการไหลเวียนหลอดเลือดในสมอง ด้วยการตรวจหลอดเลือดแดงใหญ่บริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมอง (Carotid Duplex Ultrasound) เพื่อป้องการเกิดโรคเส้นเลือดในสมองได้ในอนาคต


2.3 การรักษาเส้นเลือดในสมองตีบตันด้วยการถ่างขยายเส้นเลือด หลังจากแพทย์ตรวจพบว่าเส้นเลือดแดงใหญ่ที่คอที่ไปเลี้ยงสมองแคโรติดตีบมากกว่า 50% ร่วมกับมีอาการของอัมพาตชั่วคราว หรืออัมพาตถาวร เช่น ตามองไม่เห็น พูดลำบาก แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว หรือผู้ที่ยังไม่มีอาการแต่ตรวจพบว่าเส้นเลือดตีบรุนแรงมีความเสี่ยงต่ออัมพาตสูง แพทย์จะทำการรักษาโดยการใช้บอลลูนถ่างขยายเส้นเลือดแคโรติดและ/หรือใส่ขดลวด (Carotid Angioplasty and Stenting) เป็นการใส่บอลลูนผ่านทางสายสวนบริเวณขาหนีบไปจนถึงตำแหน่งที่ตีบตัน แล้วกางบอลลูนให้ขยายออกเบียดคราบไขมันหินปูนให้ชิดไปกับผนังเส้นเลือด ทำให้รูของเส้นเลือดเปิดกว้างขึ้น เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้สะดวกขึ้น เพื่อป้องกันการขาดเลือดซ้ำในบางรายแพทย์จะใส่ขดลวดเล็ก ๆ ค้ำยันไว้ด้วยเพื่อป้องกันการตีบซ้ำในบริเวณนั้นด้วยเครื่องไบเพลน หลังทำพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1 วัน


เครื่องไบเพลนเพิ่มการรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบตันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การรักษาเส้นเลือดในสมองตีบตันนั้น จะทำโดยมีเครื่องเอกซเรย์สำหรับตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคหลอดเลือดชนิดสองระนาบ (Biplane Digital Subtraction Angiography) หรือ Biplane DSA เป็นตัวช่วยที่สามารถถ่ายภาพหลอดเลือดได้อย่างชัดเจนเปรียบเสมือนภาพ 3 มิติ จึงช่วยให้แพทย์ทำหัตถการการรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ไม่ว่าจะเป็นวิธีการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (rtPA) ทางเส้นเลือดดำ การใช้บอลลูนถ่างขยายเส้นเลือดแคโรติดและ/หรือใส่ขดลวด หรือการใส่สายสวนหลอดเลือดขนาดเล็กไปที่บริเวณลิ่มเลือดที่อุดตันและเกี่ยวดึงลิ่มเลือดออกจากจุดที่อุดตันได้ถึงจุดที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และแก้ไขได้ทันที ทำให้การรักษาโรคหลอดเลือดมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้เครื่อง Biplane DSA ยังสามารถสร้างภาพ 3 มิติของหลอดเลือด ภาพเสมือนภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ภาพแผนที่หลอดเลือดนำทาง ช่วยให้แพทย์สามารถทำการ วัด คำนวณ และประเมินตำแหน่งที่เกิดความผิดปกติของหลอดเลือด โดยซอฟแวร์จะสามารถประมวลผลออกมาเป็นภาพเพื่อแสดงการเปรียบเทียบการไหลเวียน และการกระจายของเลือดในสมองทั้งในส่วนที่ปกติ และผิดปกติ ทั้งในช่วงก่อน และหลังการทำการตรวจรักษา ซึ่งทำให้การทำการตรวจรักษานั้น ๆ ได้สะดวก และคล่องตัวมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามการรักษาโรคเส้นเลือดในสมองตีบตันหากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว อาการของผู้ป่วยจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ และอาจกลับมาเป็นปกติได้ภายใน 6 เดือน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเสียหายของสมอง และในระหว่างการพักฟื้นผู้ป่วยจะต้องได้รับการกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูความสามารถในการสื่อสาร และการเคลื่อนไหวเพื่อให้กลับมาใกล้เคียงปกติมากที่สุด


นพ.ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา นพ.ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา

นพ.ชาญวิทย์ อนุเคราะห์วิทยา
ประสาทวิทยา/โรคหลอดเลือดสมองและการตรวจหลอดเลือดสมองด้วยคลื่นความถี่สูง
ศูนย์สมองและระบบประสาท






ปรึกษาทุกปัญหาสุขภาพแบบออนไลน์
ไม่เสียค่าใช้จ่าย





Share :

แพ็กเกจ/โปรโมชั่น

เมื่อคลิก “อนุญาตคุกกี้ทั้งหมด” หมายความว่าผู้ใช้งานยอมรับที่จะเปิดการใช้งานคุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อให้เว็บไซต์สามารถทำงานได้อย่างถูกต้องและเต็มประสิทธิภาพ เพื่อเปิดใช้คุณสมบัติของโซเชียลมีเดีย และเพื่อวิเคราะห์การเข้าใช้งานเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำการตลาดและการโฆษณา รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลการใช้งานกับพาร์ทเนอร์โซเชียลมีเดีย