
คลินิกผู้สูงอายุ

คลินิกผู้สูงอายุ เปิดให้บริการดูแลรักษา ป้องกัน ฟื้นฟู กลุ่มผู้สูงอายุแบบองค์รวมตามมาตรฐานสากล โดยแพทย์เฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ (Geriatric Doctor) และทีมสหวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เภสัชกร พยาบาล นักกายภาพ และนักโภชนากร ที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านการดูแลผู้สูงอายุ ให้การประเมินผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติ กาย จิต สังคม และวิเคราะห์ปัญหาของผู้สูงอายุเป็นแบบรายบุคคล (Personalized care) เพื่อวางแผนการดูแลรักษาให้สอดคล้องกับปัญหาสุขภาพและความต้องการของผู้สูงอายุและครอบครัว ตลอดจนการให้คำปรึกษาแก่ผู้ดูแลผู้สูงอายุเพื่อวางแผนการดูแลต่อเนื่องที่บ้าน และลดความรู้สึกเป็นภาระในผู้ดูแล (Caregiver burden)
เนื่องจากกลุ่มผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเสื่อมทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ทำให้ความสามารถในการดูแลตัวเองลดลงเมื่อเจ็บป่วย ส่งผลให้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น หากได้รับการดูแลและจัดการไม่เหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุและผู้ดูแล ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่ ภาวะหกล้มซ้ำซ้อน ภาวะสูญเสียความสามารถในการเดิน ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ความบกพร่องทางสติปัญญา ภาวะทุพโภชนาการ การเกิดผลข้างเคียงเนื่องจากการใช้ยา เป็นต้น ดังนั้น ผู้สูงอายุควรจะมีแพทย์ประจำตัวที่มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลรักษาโรคผู้สูงอายุ เพื่อให้การรักษาฟื้นฟูสุขภาพของผู้สูงอายุให้มีสุขภาพที่ดีตามวัย และพิจารณาส่งต่อการดูแลผู้สูงอายุร่วมกับแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ ตามความเหมาะสม ตลอดจนส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุต่อเนื่องที่บ้าน ผู้ดูแลจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องได้รับการเตรียมความพร้อมทั้งกายและจิตใจ เพื่อให้การดูแลผู้สูงอายุเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
บุคลากรทางการแพทย์และทีมสหวิชาชีพ
นำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ และทีมสหวิชาชีพที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุ (Multidisciplinary Care Team) เพื่อให้การดูแลอย่างครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งประกอบด้วย
- แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ: แพทย์สาขาอายุรกรรมที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านการดูแลรักษาผู้สูงอายุ เป็นผู้ที่ทำการวินิจฉัยและรักษาโรคเกี่ยวกับผู้สูงอายุครอบคลุมทุกมิติ (Holistic care) วิเคราะห์ปัญหาของผู้สูงอายุและผู้ดูแล เป็นรายบุคคล (Personal Medical) เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุต่อเนื่องที่บ้าน กรณีที่ผู้สูงอายุมีความซับซ้อนในการดูแลรักษา แพทย์ผู้สูงอายุจะเป็นผู้ที่จะพิจารณาส่งต่อแพทย์เฉพาะทางในสาขาอื่นๆ เพื่อดูแลรักษาโรคร่วมกันตามความเหมาะสม เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคงไว้คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ
- พยาบาลผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผู้สูงอายุ: พยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมเฉพาะทางด้านการดูแลผู้สูงอายุ มีหน้าที่ประเมินคัดกรองปัญหาของผู้สูงอายุเบื้องต้น เกี่ยวกับโรคทางคลินิกของผู้สูงอายุ (Geriatric Syndromes) ประเมินความสามารถทักษะของผู้ดูแลผู้สูงอายุ การให้คำปรึกษาในการดูแลผู้สูงอายุ และเป็นผู้ประสานงานกับทีมแพทย์และสหวิชาชีพ เพื่อร่วมวางแผนการดูแลรักษาผู้สูงอายุเป็นรายบุคคล (Personal Medical)
- เภสัชกร: มีหน้าที่ประเมินตรวจสอบการใช้ยาและปฏิกิริยาต่อกัน (Drug interaction) ในกลุ่มยาที่ผู้สูงอายุใช้อยู่ปัจจุบัน โดยใช้กระบวนการทำข้อมูลรายการยา (Medication Reconciliation) ที่มีการใช้ยาหลายชนิดในการรักษาแต่ละโรค เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาของผู้สูงอายุ
- นักโภชนากร: มีหน้าที่ประเมินภาวะทุพโภชนาการในผู้สูงอายุ และให้คำแนะนำด้านโภชนาการที่เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ
- นักกายภาพบำบัด: มีหน้าที่ตรวจประเมินความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ การทรงตัว เพื่อวิเคราะห์หาความเสี่ยงต่อการหกล้มในผู้สูงอายุ และออกแบบการออกกำลังกายที่เหมาะสมในผู้สูงอายุเป็นรายบุคคลเพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงอายุ
- นักกิจกรรมบำบัด: มีหน้าที่ประเมินและออกแบบกิจกรรมที่ช่วยบำบัด ฟื้นฟู พัฒนา และชะลอความเสื่อมตามวัยที่จะส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ เช่น
- การฝึกทักษะ และให้คำปรึกษาในผู้สูงอายุที่มีความยากลำบากในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น การกลืนอาหาร การสวมใส่เสื้อผ้า การดูแลความสะอาดร่างกายตนเอง เป็นต้น
- การฝึกทักษะ และให้คำปรึกษาในผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวในการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ไขสันหลังบาดเจ็บ โรคภาวะเสื่อมถอย เป็นต้น
- การประเมิน และบำบัดในด้านความรู้ความเข้าใจ และความจำในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม การจัดการพฤติกรรมและอารมณ์
การบริการทางการแพทย์
ให้บริการประเมินสุขภาพแบบองค์รวม โดยประเมินจากทุกองค์ประกอบที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ และออกแบบการดูแลผู้สูงอายุเป็นแบบเฉพาะรายบุคคล (Personal Medical) เพื่อป้องกัน ส่งเสริม ฟื้นฟูผู้สูงอายุให้มีสุขภาพที่ดีตามวัย และให้การตรวจรักษาโรคเฉพาะทางในผู้สูงอายุ (Geriatric syndrome) ได้แก่
- ภาวะหลงลืม สับสน (Intellectual impairment)
- ภาวะทรงตัวไม่ดี หกล้ม พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อลดและป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
- ภาวะทุพโภชนาการ อาหารย่อยได้น้อย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด พร้อมประเมินการกลืน และการฝึกกล้ามเนื้อการกลืนเพื่อป้องกันการสำลัก
- ปัญหานอนไม่หลับ Insomnia
- ผู้สูงอายุที่ใช้ยารักษาโรคหลายตัวร่วมกัน Polypharmacy
- ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ Depression
- การแนะนำการเข้ารับวัคซีนที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ
เวลาทำการ
วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 07.00 – 14.00 น. / วันเสาร์ เวลา 07.00 – 17.00 น. / วันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 15.00 น.
สถานที่ตั้ง
คลินิกผู้สูงอายุ ศูนย์อายุรกรรม ชั้น 1
นัดหมายและติดต่อสอบถามรายละเอียด
โทร. 0-2450-9999 ต่อ 1088-1089 หรือ เบอร์ตรงพยาบาลให้คำปรึกษาการดูแลผู้สูงอายุ โทร. 065 – 9249089 (เฉพาะเวลาทำการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.00 น.)